ฟาหลางไฉ่ (琺瑯彩) นวตกรรมสีบนเครื่องกระเบื้องจีนสมัยราชวงศ์ชิง



ตอนที่ 1
ฟาหลางไฉ่ พ่อ หยางไฉ่ ทุกสถาบัน

และแล้วก็ได้ฤกษ์เรียบเรียงเกี่ยวกับสีฟาหลาง หรือ ฟาหลางไฉ่ (琺瑯彩)สักทีครับ หลังจากที่ได้จัด "โต้วไฉ่" (鬥彩) กับ "หยางไฉ่" (洋彩) ไปแล้ว ว่าด้วยพัฒนาการด้านการเขียนสีบนกระเบื้องเคลือบจีนแล้ว "ฟาหลางไฉ่" นั้นอยู่ตรงกลางระหว่าง "โต้วไฉ่" กับ "หยางไฉ่" ถ้าจะว่าด้วยความหมายแล้ว ฟาหลาง 琺瑯 นั้นหมายถึงการเคลือบ หรือที่ฝรั่งเรียก enamel ไทยใช้คำว่า ลงยาสี ส่วนคำว่าไฉ่ 彩 หมายถึงสี รวมความแล้ว 琺瑯彩 จึงหมายถึงสีเคลือบ

"โต้วไฉ่" นั้นเป็นสีที่พัฒนาขึ้นมาในรัชศกหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิง ทำได้สำเร็จในรัชศกซวนเต๋อ และถึงจุดพีคสุดในรัชศกเฉิงฮวา โดยมีถ้วยไก่พันล้านเป็นตัวอย่างของการเขียนสีเทคนิคโต้วไฉ่ที่รู้จักกันแพร่หลาย เทคนิคนี้มีลักษณะพิเศษคือการเผาสองครั้ง โดยครั้งแรกเขียนสีครามด้วยโคบอลต์ใต้น้ำเคลือบ เพราะสีครามจากโคบอลต์เผาอุณหภูมิสูง สีครามใต้เคลือบนี้จะทำหน้าที่เป็นกรอบร่างของภาพที่จะเขียน เมื่อเผาแล้วจึงนำมาแต้มสีเหลือง แดง เขียว และมีสีพิเศษคือสีม่วงเบอกันดี สีที่แต้มครั้งที่สองนี้จะเผาอีกรอบด้วยอุณหภูมิต่ำจึงสำเร็จเป็นชิ้นงาน โต้วไฉ่ จะมีลักษณะเป็นสีโปร่งแสง เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สีครามตัดเส้น เพราะถ้าไม่ตัดเส้นก็จะไม่เห็นว่าวาดอะไร เทคนิคนี้ใช้ในการวาดลวดลายบนเครื่องกระเบื้องจีนสืบเนื่องมาจนถึงรัชศกคังซี ราชวงศ์ชิงเลยทีเดียว อ่านเรื่องเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่ได้จากลิงค์นี้ครับ https://tertcollection.blogspot.com/2017/07/blog-post.html

ส่วน "หยางไฉ่" นั้นอย่างที่เคยอธิบายไปแล้วว่าไม่ใช่เทคนิคสีชนิดใหม่ แต่เป็นการเรียกเครื่องกระเบื้องในรัชศกเฉียนหลงที่กำหนดให้มีลักษณะพิเศษคือ วาดลวดลายแบบตะวันตก เช่น ลายดอกไม้ใบไม้ กรอบลายและองค์ประกอบลวดลายต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะบาโร๊คของตะวันตก และมักจะวาดดอกไม้แปลกๆ จากตะวันตก เช่น ดอกอะนีโมนี่  ถ้ามีเขียนกลอนก็จะต้องเป็นกลอนที่จักรพรรดิเฉียนหลงแต่งเอง เป็นต้น โดยสีที่ใช้วาดเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ ก็คือสี ฟาหลางไฉ่ นั่นเอง เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการสร้างสวนแบบตะวันตกที่เรียกว่า “ซิหยางโหลว” (西洋楼) ขึ้นใน “หยวนหมิงหยวน” (圆明园) ซึ่งเป็นสวนที่ได้รับอิทธิพลจากสวนแบบเรเนซองส์และสวนแบบบาโร๊คของตะวันตก มีอาคารแบบตะวันตก น้ำพุ และสระน้ำ รวมทั้งต้นไม้ดอกไม้ที่นำเข้ามาจากตะวันตกทั้งหมด อ่านเรื่องเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ได้จากลิงค์นี้ครับ https://tertcollection.blogspot.com/…/p-margin-bottom-0.html

การเรียบเรียงเรื่องสีฟาหลางในครั้งนี้ใช้ข้อมูลจาก 4 แหล่งด้วยกัน คือ หนังสือของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันสองเล่มคือ Porcelain with Painted enamels of Qing Yongzheng period (1723-1735) หาปีพิมพ์ไม่เจอ ในคำนำของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คุณ Fung Ming-chu ลงปี 2013 น่าจะจัดพิมพ์ช่วงนี้
และ Stunning Decorative Porcelains from the Ch'ien-lung Reign เล่มนี้คุณป้า Liao Pao Showg เขียน ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2008 หนังสือสองเล่มนี้เป็นหลักฐานของทางฝั่งจีน



นอกจากนี้ยังใช้หนังสือของพิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต Chinese Ceramics : Porcelain of the Qing Dynasty 1677-1911 โดยคุณ Rose Kerr พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1986 ซึ่งได้สรุปภาพรวมของพัฒนการการผลิตเครื่องกระเบื้องจีนในช่วงรอยต่อระหว่างปลายหมิงต้นชิงได้เป็นอย่างดี
ส่วนหนังสือ Chinese Glazes : Their Origins, Chemistry and Re-creation ของคุณ Nigel Wood พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1999 นั้นเน้นไปที่องค์ประกอบของสีที่ใช้วาดทำให้เห็นถึงความแตกต่างของสีโต้วไฉ่และฟาหลางไฉ่ในเชิงองค์ประกอบทางเคมีได้อย่างชัดเจน




ตอนที่ 2
กำเนิดฟาหลางไฉ่

ข้อมูลในส่วนนี้มาจากหนังสือ Chinese Ceramics : Porcelain of the Qing Dynasty 1677-1911 โดยคุณ Rose Kerr นะครับ ชื่อเฉพาะเค้ามีแต่ภาษาอังกฤษ อันไหนพอจะเขียนเป็นไทยได้ก็เขียนเป็นไทยครับ
ก่อนที่จะมาทำความรู้จักสีฟาหลางไฉ่ เรามาทำความเข้าใจบริบทในช่วงเวลาที่เกิดสีชนิดนี้กันก่อนครับ ในกระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นนั้นในสมัยราชวงศ์ชิงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ"เตาหลวง" ผลิตเครื่องกระเบื้องสำหรับส่งไปให้ราชสำนักที่ปักกิ่งใช้ และ "เตาเอกชน" ผลิตเครื่องกระเบื้องออกจำหน่ายทั่วไป ทั้งสำหรับขายในเมืองจีนเอง และทำส่งขายเป็นสินค้าออก

สำหรับเตาหลวงนั้นทางราชสำนักชิงจะแต่งตั้งคนเข้ามาควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการและมาตรฐานของราชสำนัก แต่ก่อนที่ราชสำนักชิงจะให้ความสำคัญกับการผลิตเครื่องกระเบื้องอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เครื่องกระเบื้องที่ส่งไปใช้ในราชสำนักชิงในรัชศกซุ่นจื้อ และรัชศกคังซียุคต้น ผลิตโดยเตาเอกชน ทั้งนี้ราชสำนักชิงในระยะแรกมีนโยบายที่จะ "สับงานออก" อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงต้นๆ ยังมีศึกสงครามและเรื่องที่จะต้องสะสางเป็นจำนวนมาก อะไรที่ยังไม่สำคัญก็ "สับงานออก" จะได้ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลังกับภาระกิจหลักที่จะต้องสร้างความสงบมั่นคงหลังจากภาวะสงคราม

เตาหลวงที่ราชสำนักส่งคนมาควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องอย่างใกล้ชิดนี้เป็นของที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง ในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน (ศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 14) เครื่องกระเบื้องที่ราชสำนักใช้จะคัดเลือกจากเตาเอกชนที่ผลิตงานคุณภาพดีที่สุด อย่างเครื่องเคลือบหลูสมัยซ่งเหนือก็ผลิตที่เตาเอกชน และที่เตาเอกชนก็ผลิตเครื่องกระเบื้องหลากหลายชนิด ไม่ใช่ทำแต่เครื่องเคลือบหลูสีฟ้าหลังฝนที่ราชสำนักใช้ ยังมีเครื่องเคลือบสีขาว สีเขียว และเครื่องกระเบื้องรูปทรงแปลกๆ อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีแต่แบบเรียบๆ ที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ แม้แต่ในสมัยซ่งใต้ที่ย้ายเมืองหลวงลงมาอยู่ที่หางโจว เครื่องกระเบื้องที่ราชสำนักใช้ก็คงจะผลิตจากเตาเอกชนที่อพยพโยกย้ายกันลงมาเหมือนกัน

ในสมัยต้นราชวงศ์หมิงได้มีการจัดตั้ง "เตาหลวง" ขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณ Pearl Hill เมืองจิ๋งเต๋อเจิ้น เตาหลวงแห่งนี้ผลิตเครื่องกระเบื้องต่อมายาวนานจน ค.ศ. 1911 เมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลาย ในปัจจุบันพื้นที่ที่เคยเป็นเตาหลวงได้มีสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่คือถนน Zhushan Lu หรือ Pearl Hill Road ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองจิ๋งเต๋อเจิ้น

บริเวณเตาหลวงที่จิ๋งเต๋อเจิ้นจัดตั้งขึ้นสมัยหมิง ผมเดาว่าน่าจะอยู่บริเวณนี้ครับ เห็นมีชื่อถนนย่อยคังซี เฉียนหลง ยังไงรบกวนผู้รู้ชี้แนะด้วยครับ

ภาพจากกูเกิ้ลแสดงให้เห็นอาคารสมัยใหม่ บนพื้นที่เตาหลวงไม่ต้องห่วงนะครับ ก่อนที่จะอนุญาตให้สร้างอาคารสมัยใหม่เค้าทำการขุดค้นทางโบราณคดีไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว


ในปี 1644 ในช่วงที่ราชวงศ์ชิงขึ้นมามีอำนาจถึงแม้ว่าในมณฑลเจียงซีจะยังมีม่านหมอกของสงครามที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปอยู่ เตาหลวงที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงก็ยังคงอยู่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแต่งตั้งกันขึ้นในระดับท้องถิ่น เครื่องกระเบื้องจากเตาหลวงในสมัยนี้ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันมีขนาดเล็ก มีเอกสารบันทึกว่าราชสำนักชิงได้สั่งทำเครื่องกระเบื้องชิ้นใหญ่ในปี 1654 และ 1659 แต่ไม่สามารถที่จะผลิตได้ ทั้งนี้เพราะขาดทั้งกำลังคนและค่าใช้จ่ายในการผลิตเครื่องกระเบื้องก็คงจะขัดสนไม่น้อย เพราะสภาพบ้านเมืองหลังสงคราม จนในปี 1660 ผู้ว่าการมณฑลเจียงซี Zhang Chaolin ได้ยื่นฎีกาขอยุติการปฏิบัติงาน อาจจะเป็นเหตุให้ทางราชสำนักชิงเห็นความขัดสนและให้การสนับสนุนกิจการของเตาหลวงมากยิ่งขึ้นจนในปี 1671 จึงสามารถผลิตเครื่องกระเบื้องชิ้นใหญ่ๆ ตามออเดอร์ของราชสำนักสำหรับใช้ในราชสำนักและวัดสำคัญได้

ในปี 1674 ภาคใต้ของจีนเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจากกบฎต่อต้านราชวงศ์ชิง นำโดยอู๋ซานกุ้ย แม่ทัพสมัยหมิง (ที่ยอมอ่อนน้อมต่อราชวงศ์ชิงในระยะแรก) ความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ได้กลายเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา และได้ส่งผลต่อการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นโดยตรงในปี 1674 เตาเผาที่จิ๋งเต๋อเจิ้นถูกทำลายราบเรียบเป็นหน้ากลอง รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองด้วย ทำให้การผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นต้องยุติลง จนกระทั่งสงครามกลางเมืองยุติลงในปี 1681 ในปี 1680 จักรพรรดิคังซีได้ให้ฟื้นฟูการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ส่งเสริมให้ช่างทำเครื่องกระเบื้องกลับเข้ามาทำงานดังเดิม และในปี 1683 ก็ได้จัดตั้งเตาหลวงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และได้แต่งตั้งคนจากราชสำนักชิงเข้ามาควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องด้วย

ผู้ที่เข้ามาควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องเตาหลวงในช่วงเวลานี้คือ Zang Yingxuan ในช่วงเวลานี้เครื่องกระเบื้องคุณภาพดีก็ได้ผลิตขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่เตาหลวงจิ๋งเต๋อเจิ้น ในปี 1688 ผู้ควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องเตาหลวงได้รับการแต่งตั้งจากระดับท้องถิ่น (ข้อมูลไม่ได้บอกว่าคนเดิมตายรึเปลี่ยนไปรับตำแหน่งอื่นรึยังไงนะครับ) และทางปักกิ่งไม่ได้แต่งตั้งใครลงมาควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องที่เตาหลวงอีกเลยจนถึงปี 1726

ในปี 1705-1712 จักรพรรดิคังซีได้ส่งหล่างถิงจี๋มาควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องเตาหลวงที่จิ๋งเต๋อเจิ้น อย่างที่เคยพูดไปในเครื่องเคลือบแดงแล้วว่า หน้าที่ประการหนึ่งของหล่างถิงจี๋คือการคิดค้นสูตรน้ำเคลือบสีแดงแบบในสมัยราชวงศ์หมิงขึ้นมาเพื่อใช้ในงานแซยิดของจักรพรรดิคังซี นอกจากนี้แล้วหล่างถิงจี๋ ยังได้พัฒนาน้ำเคลือบสีแดงให้สดใสขึ้นอีกสเต็ปนึง เรียกกันว่า "หล่างหง" หล่างถิงจี๋เชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องกระเบื้องสีขาวบางเป็นพิเศษและลายครามตามแบบสมัยหมิงอีกด้วย เครื่องกระเบื้องที่ผลิตโดยหล่างถิงจี๋นี้จัดเป็นเครื่องกระเบื้องอีก "ตระกูล" หนึ่งเลยทีเดียว เรียกกันว่า "หล่างเย้า" อ่านเรื่องเครื่องเคลือบสีแดงได้ตามลิงค์นี้เลยครับ https://tertcollection.blogspot.com/2018/08/blog-post.html

เครื่องกระเบื้องในระยะแรกในรัชศกคังซีวาดด้วยเทคนิคสีโต้วไฉ่ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สืบต่อมาจากสมัยหมิง


จากบริบทของบ้านเมืองในช่วงต้นราชวงศ์ชิงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นราชวงศ์ชิงมาจนถึงปลายสมัยจักรพรรดิคังซีนั้น เตาหลวงที่จิ๋งเต๋อเจิ้นยังคงผลิตเครื่องกระเบื้องส่งให้ราชสำนักอยู่ แต่เนื่องจากภาวะสงครามทำให้เตาหลวงไม่สามารถที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ และเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองต่อต้านราชวงศ์ชิงในปี 1674 การผลิตเครื่องกระเบื้องที่เตาหลวงก็ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งหนึ่ง สภาพการณ์แบบนี้จึงไม่พร้อมที่จะเป็นพื้นที่สำหรับคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องกระเบื้องจีนได้
มีหลักฐานจากทางฝ่ายจีนว่าในปี 1693 จักรพรรดิคังซีได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่งเพื่อคิดค้นสีแบบใหม่เพื่อใช้ในการวาดลงบนเครื่องกระเบื้องจีน (เทคโนโลยีสีล่าสุดของจีนในสมัยคังซีคือเทคโนโลยีที่สืบเนื่องมาจากสมัยหมิง เรียกว่า "โต้วไฉ่" ซึ่งเป็นสีลักษณะโปร่งแสง มีเพียงสีครามจากโคบอลต์ สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีม่วง เท่านั้น) ซึ่งหน่วยงานนี้ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก ซึ่งเป็นพระเยซูอิตที่คังซีรับเข้ามา ผมเรียกหน่วยงานนี้ว่า "กองสีฟาหลาง" ในปี 1720 กองสีฟาหลางจึงประสบความสำเร็จในการคิดค้นสีชนิดใหม่ขึ้นมา สีชนิดใหม่นี้เป็นสีที่มีลักษณะทึบแสง ถ้าจะเปรียบก็คงเทียบได้กับสีน้ำมัน


เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ที่ทำในรัชศกคังซี




นอกจากจะสั่งเครื่องกระเบื้องเปล่าจากจิ๋งเต๋อเจิ้นแล้ว ยังได้สั่งภาชนะจากอี๋ชิงมาทดลองวาดด้วยสีฟาหลางไฉ่ด้วย


สองสีแรกที่คิดขึ้นได้ในปลายสมัยคังซีคือสีชมพูและสีขาวครับ สองสีใหม่ที่คิดขึ้นได้นี่เมื่อเอาไปรวมกับ 5 สีที่มีอยู่เดิมก็ทำให้เครื่องกระเบื้องจีนมีสีสันและมีมิติของการวาดภาพที่แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก นอกจากใช้สีใหม่วาดลงบนเครื่องกระเบื้องแล้ว ยังได้มีการทดลองวาดลงบนภาชนะจากอี๋ชิง มีทั้งปั้นชา ถ้วยชง และถ้วยชา แต่ของที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันในกู้กงไต้หวันมีน้อยชิ้นมาก เดาว่าเป็นการทดลองแบบเห่อสีใหม่ แต่ไม่ได้รับความนิยม



ตอนที่ 3
เจาะลึก ฟาหลางไฉ่

จากตอนที่แล้วเราทราบแล้วว่าจักรพรรดิคังซีให้ตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาคิดค้นสีชนิดใหม่สำหรับวาดลงบนเครื่องกระเบื้อง ในปี 1693โดยหน่วยงานนี้ตั้งอยู่ในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง และประสบความสำเร็จในการคิดค้นสีใหม่ขึ้นในปี 1720 ใช้เวลาถึง 27 ปี โดยสองสีแรกที่คิดค้นขึ้นมาได้คือสีชมพูจากทองคำ และสีขาวทึบแสง ที่นี้เราจะมาดูกันในเชิงลึกว่าสีที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นี้มีลักษณะเฉพาะอย่างไร และมีที่มาจากไหน ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาเรียบเรียงนี้มาจากหนังสือ Chinese Glazes : Their Origins, Chemistry and Re-creation ของคุณ Nigel Wood ครับ

สีชมพูซึ่งคิดขึ้นได้ในปลายรัชศกคังซี ผสมผสานกับสีโต้วไฉ่เดิม สีน้ำเงินเขียนบนเคลือบก็เป็นอีกสีนึงที่คิดสมัยคังซีด้วยครับ เพราะสีน้ำเงินโต้วไฉ่เขียนใต้เคลือบ ส่วนสีอื่นๆ เขียนบนเคลือบ ทำให้ต้องเผาสองรอบ สีน้ำเงินบนเคลือบช่วยลดขั้นตอนการผลิตลง คือเผารอบเดียวครับ

ในสมัยคังซี ฝรั่งเศสได้ส่งบาทหลวง Francois Xavier d’ Entrecolles ให้เดินทางไปสืบดูวิธีการผลิตเครื่องกระเบื้องจีนที่จิ๋งเต๋อเจิ้นเพื่อที่จะได้เอามาปรับใช้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ในตะวันตก ซึ่งในเวลานั้นตะวันตกยังไม่สามารถที่จะทำเครื่องกระเบื้องคุณภาพดีเทียบเท่าของจีนได้ ต้องเสียดุลการค้าให้กับจีนในการซื้อเครื่องกระเบื้องไม่รู้เท่าไหร่

บาทหลวง D’Entrecolles นี้ท่านสามารถพูดภาษาจีนและรู้ธรรมเนียมวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างดี จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมกับภารกิจนี้เป็นอย่างยิ่ง ในภารกิจนี้ท่านได้มีเอกสารบันทึกไว้สองครั้งคือ ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1712 และอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1722

เอกสารฉบับแรกนั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองจิ๋งเต๋อเจิ้นในภาพรวม มีประวัติความเป็นมาอย่างไร วิถีชีวิตคนทำเครื่องกระเบื้องเป็นอย่างไร กระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องในยุคปลายคังซีนั้นเป็นอย่างไร
เอกสารฉบับที่สองที่บันทึกในปี 1722 คือสองปีหลังจากที่จีนประสบความสำเร็จในการคิดค้นสีทึบแสงที่ใช้วาดลงบนเครื่องกระเบื้อง ได้ให้รายละเอียดวิธีการผลิตเครื่องกระเบื้องจีน วัตถุดิบ ส่วนผสมต่างๆ ลักษณะของเตาเผา เทคนิคการเผา อย่างละเอียด

การบันทึกของหลวงพ่อนั้นละเอียดถึงสูตรสีที่ใช้วาด สูตรสีโดยทั่วไปประกอบด้วยตะกั่วขาว 3 ส่วน (lead carbonate) แก้ว (quartz) 1 ส่วน ที่เหลือเป็น oxides ของสารที่ให้สีต่างๆ จำนวนเล็กน้อย ซึ่งสูตรสีนี้เป็นสูตรของสี "โต้วไฉ่"

สำหรับสีน้ำเงินบนเคลือบบาทหลวง D’Entrecolles ได้บันทึกไว้ว่าต่างจากสีน้ำเงินที่ใช้ในสีน้ำเงินที่ใช้กับโลหะ ซึ่งเป็นแก้วสีน้ำเงินบดเป็นผงละเอียด ที่จิ๋งเต๋อเจิ้นจะบดและล้างแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งมาจากปักกิ่งหรือกวางตุ้ง แล้วผสมแก้วบดนี้กับกาวหนังปลา นอกจากนี้ท่านยังบอกว่า สีน้ำเงินบนเคลือบนี้เริ่มใช้ประมาณปี 1700 และยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การใช้สีน้ำเงินบนเคลือบนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการใช้สีทอง

คุณไนเจลให้ข้อมูลอีกว่าได้มีการวิเคราะห์สีน้ำเงินบนเคลือบสมัยคังซี โดยศาสตราจารย์ David Kingery และ ดร. Pamela Vandiver ที่ Massachusetts Institute of Technology ในปี 1983-4 ผลการวิเคราะห์ยืนยันว่าองค์ประกอบทางเคมีของสีน้ำเงินบนเคลือบสมัยคังซีต่างจากสีอื่น โดยมีส่วนผสมของโปแตสเซี่ยมเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจาก lead-oxide และแก้ว (silica) นอกจากนี้แล้วยังมี คลอรีน (chlorine) ซึ่งทำให้สีน้ำเงินบนเคลือบสมัยคังซีมีสีเหลือบรุ้ง คลอรีนเป็นสารที่ระเหยได้ง่าย ซึ่งทำให้สีน้ำเงินบางส่วนในขณะเผาระเหยออกไปทำให้เกิดชั้นบางๆ ของสีน้ำเงินเข้มเกือบดำและเป็นสีเหลือบรุ้ง ปรากฎการณ์นี้จะเห็นได้เมื่ออยู่ในองศาที่เหมาะสมกับแสงตกกระทบ และมักจะใช้ลักษณะเฉพาะนี้เป็นตัวกำหนดอายุของเครื่องกระเบื้องที่มีสีน้ำเงินที่ทำในรัชศกคังซีด้วย

ในปี 1723 บาทหลวง D’Entrecolles ต้องไปรับตำแหน่งใหม่ที่ปักกิ่ง ในช่วงเวลานี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการใช้สีบนเครื่องกระเบื้องจีนที่จิ๋งเต๋อเจิ้น นั่นคือการใช้สีทึบแสงที่คิดค้นได้ที่ในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่งเมื่อสามปีก่อนคือ สีทึบแสงสีขาว lead-arsenate สีเหลือง lead-stannate และสีชมพูโปร่งแสง colloidal gold โดยมีส่วนผสมของ lead oxide-potassia-silica เป็นส่วนผสมหลัก สีทั้งสามชนิดนี้ได้ทำให้การวาดลวดลายบนเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งใช้เดี่ยวๆ และใช้ผสมกัน เช่น

สีชมพูโปร่งแสงวาดทับลงบนสีขาวทึบแสงก็จะได้สีชมพูทึบแสง
สีเขียวจากทองแดง copper-green ซึ่งเป็นสีโปร่งแสง วาดลงบนสีขาวทึบแสงก็จะได้สีเขียวมรกตทึบแสง
สีเหลืองทึบแสงผสมกับสีเขียวจากทองแดง copper-green ก็จะได้สีเขียวเหลือง
สีม่วง manganese-cobalt ผสมกับสีชมพูจากทองคำ ก็จะได้สีม่วงโปร่งแสง

อย่างไรก็ตามที่มาของสีทึบแสงนี้แตกออกเป็นสองแนวทาง ทฤษฎีแรกสีทึบแสงนี้มาจากมิชชันนารีชาวตะวันตกที่จักรพรรดิคังซีรับเข้ามาทำงานในวังที่ปักกิ่ง อีกทฤษฎีหนึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่สีทึบแสงนี้พัฒนามาจากสีที่ใช้กับโลหะ หรือที่จีนเรียกว่า "จิ่งไท่หลาน" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว

สีชมพูจากทองคำที่ใช้กับเครื่องกระเบื้องนั้นตะวันตกใช้มาตั้งแต่ปี 1718 ที่โรงงานไมเซ่น (Meissen) รัฐแซกโซนี่ สองปีก่อนที่จีนจะทำได้ที่ปักกิ่ง อย่างไรก็ดีเปอร์เซียทำแก้วสีแดงจากทองคำได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๐ และสีชมพูบนเคลือบของจีนนั้นใช้ทองคำเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับการทำแก้วสีแดงของเปอร์เซีย ในขณะที่สีชมพูของตะวันตกจะเป็นส่วนผสมของทองคำและดีบุก

ส่วนสีขาวและสีเหลืองทึบแสงนั้นใช้ในการทำเครื่องโลหะลงยาสีจิ่งไท่หลานของจีนมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 แล้ว มีความเป็นไปได้ว่าสองสีนี้พัฒนามาจากสีที่ใช้กับเครื่องลงยาจิ่งไท่หลาน อีกประการหนึ่งทั้งเครื่องโลหะลงยาจิ่งไท่หลาน และเครื่องกระเบื้องสีฟาหลางไฉ่นั้นทำในวังต้องห้ามที่ปักกิ่งเหมือนกันมีความเป็นได้ที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสีเครื่องโลหะจิ่งไท่หลานมาใช้กับเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ด้วย

ฝาตลับจะสังเกตว่าสีทึบแสงใช่กับเครื่องโลหะลงยามาตั้งแต่สมัยหมิงแล้ว จึงสันนิษฐานว่าสีฟาหลางที่ใช้กับเครื่องกระเบื้องน่าจะเป็นการปรับสูตรจากสีที่ใช้บนโลหะมาใช้กับเครื่องกระเบื้อง



ในภาพรวมแล้วดูเหมือนคุณไนเจลแกจะเชื่อว่าการพัฒนาสีทึบแสงในสมัยคังซีนี้จะเป็นการปรับเอาสีที่ใช้กับเครื่องโลหะจิ่งไท่หลานมาใช้กับเครื่องกระเบื้อง แต่หนังสือของกู้กงไต้หวัน เรียกสีชนิดใหม่นี้ว่า "สีเคลือบจากตะวันตก" ซึ่งก็เป็นได้ทั้งสองแนวทางนะครับ เพราะเทคโนโลยีการทำจิ่งไท่หลานนั้นจีนก็รับมาจากตะวันออกกลางซึ่งก็คือทางตะวันตกของจีนเช่นกัน




ตอนที่ 4
ฟาหลางไฉ่สมัยยงเจิ้ง

อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าสีฟาหลางไฉ่คิดค้นได้ในปี 1720 สองปีก่อนจักรพรรดิคังซีจะสิ้นพระชนม์ เรียกได้ว่าเป็นระยะเริ่มแรกของสีฟาหลางไฉ่ ซึ่งสีที่มีในตอนนั้นก็ยังไม่มากนัก สีที่คิดได้ใหม่คือสีชมพู และสีขาวทึบแสง เมื่อเอาไปรวมกับสีโต้วไฉ่เดิม (เขียว เหลือง แดง ม่วง) ก็มีแค่ 6 สี แต่ 6 สีนี้ก็ได้สร้างสรรค์การวาดภาพบนเครื่องกระเบื้องในมิติใหม่ได้อย่างมากมาย ถ้าคิดง่ายๆ เอาสีขาวทึบแสงรองเป็นพื้น แล้ววาดสีโปร่งแสงเดิมทับลงไปก็จะได้สีทึบแสงขึ้นมา จากที่เคยใช้สีโต้วไฉ่วาดภาพได้เพียงสองมิติ เมื่อได้สีขาวทึบแสงมาช่วยแล้วการเน้นแสงเงา การไล่เฉดสีก็ทำได้ ทำให้สามารถสร้างมิติให้กับการวาดภาพในลักษณะของสีน้ำมันได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องกระเบื้องจีนมาก่อน
ในสมัยยงเจิ้งการคิดค้นพัฒนาสีใหม่ๆ ก็ทำต่อเนื่องจากรัชกาลก่อน และได้สีใหม่ๆ ขึ้นอีกกว่า 20 สี ข้อมูลในส่วนนี้มาจากหนังสือของกู้กงไต้หวัน Porcelain with Painted enamels of Qing Yongzheng period (1723-1735) ตรงนี้ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่างงกับการเรียบเรียงของเค้ามาก คือเค้าพูดถึงสีใหม่ สีเก่า ครั้งละ 9 สี รวม 4 ครั้ง แต่ในทุกครั้งจะมีสีที่ซ้ำกันจนงงว่าจะพูดสีซ้ำกันทำไม แล้วเค้าก็สรุปว่าตั้งแต่สมัยคังซีมาจนถึงยงเจิ้ง คิดค้นสีได้รวมทั้งสิ้น 21 สี แต่พอมานับสีที่เค้าพูดถึงทั้ง 4 ชุด ตัดเอาสีที่ซ้ำออกมันดันได้เกิน 21 สี สรุปเอาเป็นว่าผมจะพูดรวมไปเลยว่าสีทั้งหมดมีสีอะไรบ้างที่พูดถึงในหนังสือนะครับ

เค้าอ้างถึงบันทึกของกองช่างศิลป์หลวง (Imperial Workshops) ว่าในวันที่ 12 เดือน 7 ปีที่ 6 ในรัชศกยงเจิ้ง (ค.ศ. 1728) กองช่างศิลป์หลวง สังกัดเน่ยอู่ฝู (คือหน่วยงานที่ดูแลกิจการภายในพระราชวังต้องห้าม ถ้าจะเทียบกับของเราก็ประมาณ สำนักพระราชวังครับ) ได้รับจดหมายน้อยจากหยวนหมิงหยวนว่า ในวันที่ 10 เดือน 7 องค์ชาย 13 (อิ้นเสียง) ได้ทูลเกล้าถวายตัวอย่างสีเคลือบตะวันตก (western enamels) สำหรับวาดลงบนเครื่องกระเบื้อง 9 สีให้ทอดพระเนตร 'ไหว่าง' (海望) ได้รับคำสั่งให้เก็บตัวอย่างสีนี้ไว้ที่กองช่างศิลป์หลวง (imperial workshops) เพื่อเอาไว้เทียบกับสีที่จะทำขึ้นใหม่ 'ซ่งชี' (宋七) ได้รับมอบหมายให้ไปที่โรงงานหุงกระจก และทำการหุงกระจกแล้วบดทำสีมาอย่างละ 300 ชั่ง สีเคลือบตะวันตกนี้ใช้ duoermendian oil เป็นตัวทำละลาย นอกจากนี้แล้วยังส่งสีใหม่นี้ให้กับ 'เหนียนซีเหยา' (年希堯) เพื่อใช้ในการวาดลงบนเครื่องกระเบื้องต่อไป





เหนียนซีเหยา เป็นคนที่ยงเจิ้งมอบหมายให้ไปควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องที่เตาหลวง จิ๋งเต๋อเจิ้น ในปี 1726 แต่งานของเหนียนซือเหยา ไม่ได้มีเพียงแค่ควบคุมดูแลการผลิตเครื่องกระเบื้อง แกยังต้องดูแลความเรียบร้อยของ "ด่านศุลกากร" ของคลองต้าหยุนเหอซึ่งอยู่ห่างจากจิ๋งเต๋อเจิ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 300 ไมล์ เหนียน ซือเหยาจะมาดูแลควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นได้เพียงปีละหนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในอีกสองปีต่อมายงเจิ้งจึงส่งถัง ยิ้ง มาดูแลการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นแทนเหนียนซีเหยา ในขณะที่กองช่างศิลป์หลวงในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง กำลังเพ้นท์เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่กันอย่างเมามัน 'ถังยิ้ง' (唐英) ที่อยู่จิ๋งเต๋อเจิ้นก็ทดลองทำเครื่องกระเบื้องตามแบบโบราณสมัยซ่ง หลู ติ้ง จุน กวน เกอ สะสมความชำนาญในการผลิตเครื่องกระเบื้องชนิดต่างๆ และจะได้รังสรรค์เครื่องกระเบื้อง 'หยางไฉ่' ในรัชศกเฉียนหลงต่อไปครับ

นับตั้งแต่ก่อตั้งกองสีฟาหลางขึ้นในรัชศกคังซี ค.ศ. 1693 จนถึงรัชศกยงเจิ้ง ค.ศ. 1728 ได้พัฒนาสีใหม่ขึ้นมีรายละเอียดตามนี้ครับ ผมจัดเป็นกลุ่มสีจะได้พิจารณาได้สะดวกนะครับ

1. สีขาว
2. สีขาวพระจันทน์ (moon white)
3. สีขาวอ่อน (soft white)
4. สีเหลือง
5. สีเหลืองต้นสน (pine yellow)
6. สีเหลืองต้นสนออกเขียว (light pine yellow-green)
7. สีฤดูใบไม้ร่วง (autumn hue)
8. สีเขียว
9. สีเขียวอ่อน (light green)
10. สีเขียวอ่อนสว่าง (light bright green)
11. สีเขียวสว่าง (bright green)
12. สีเขียวสว่างแต่เข้ม (deep bright green)
13. สีเขียวต้นสน (pine green)
14. สีน้ำเงิน
15. สีน้ำเงินอ่อน (light blue)
16. สีน้ำเงินสว่าง (bright blue)
17. สีน้ำเงินสว่างแต่เข้ม (deep bright blue)
18. สีม่วงเข้ม (deep purple)
19. สีรากบัว
20. สีบรอนส์
21. สีน้ำตาลเข้ม
22. สีดำ

จะสังเกตว่าไม่มีสีชมพูและสีแดง เข้าใจว่าจะแยกออกเป็นอีกกลุ่มเพราะทั้งสีชมพูและสีแดงนี้เป็นสีที่มีส่วนผสมของทองคำ ในหนังสือของกู้กงไต้หวันเค้าอธิบายว่าทั้งในสมัยคังซีและยงเจิ้งพยายามที่จะคิดค้นสูตรสีแดงที่ใช้ทองคำเป็นส่วนผสมของจีนเองขึ้นมาให้จงได้ ซึ่งในระยะแรกที่ยังคิดสูตรสีแดงจากทองคำยังไม่ได้ก็ได้ใช้สูตรของตะวันตกไปพลางๆ ก่อน เมื่อคิดสูตรสีแดงจากทองคำขึ้นได้เองแล้วก็ใช้สูตรสีที่ได้ใหม่นี้ด้วยความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เครื่องกระเบื้องที่วาดดอกไม้สีแดงในสมัยยงเจิ้ง มักจะมีตราประทับ 'จินเฉิง' ( 金成 ) ถ้าจะแปลเป็นไทยคงประมาณ 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่' และ 'ชื่อยี่' (旭映 ) 'เปล่งประกายเจิดจรัส' กำกับอยู่เสมอ เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ที่รังสรรค์ขึ้นมานี้เก็บรักษาไว้ที่ 'ถวนหนิงเตี้ยน' ใน 'เฉียนชิงกง' ในสมัยเฉียนหลงได้ทรงสั่งทำกล่องไม้ 'หนานมู่' สำหรับเก็บเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่เหล่านี้และได้พระราชทานชื่อให้กับเครื่องกระเบื้องแต่ละชิ้นไว้ด้วย ในสมัยจักรพรรดิ 'เตากวง' (1835) และ 'กวงสู' (1875) มีพระราชดำริให้จัดทำบัญชีเครื่องกระเบื้อง เครื่องแก้ว และภาชนะอี๋ชิงที่วาดด้วยสีฟาหลางไฉ่ไว้ด้วย





ความสำเร็จนี้องค์ชาย 13 เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เนื่องจากจักรพรรดิยงเจิ้ง ได้มอบหมายให้องค์ชาย 13 เป็นผู้อำนวยการในการคิดค้นสีใหม่ๆ สำหรับให้ช่างวาดในกองช่างศิลป์หลวงใช้วาดลงบนเครื่องกระเบื้อง เค้าบอกว่าในระยะแรกคิดค้นสีได้ใหม่ 18 สี ซึ่งยังไม่รวมสีแดงจากทองคำ แสดงว่าไม่ใช่ของที่ทำได้ง่ายๆ แต่ด้วยความมุมานะก็สามารถทำได้จนสำเร็จ ทางพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันได้ใช้กล้องขยายดูสีพบว่ามีอนุภาคของทองคำปนอยู่ในเนื้อสีจริงๆ ด้วยครับ

นอกจากความสำเร็จในการคิดค้นสีใหม่ๆ สำหรับวาดลงบนเครื่องกระเบื้องในสมัยยงเจิ้งแล้ว การวาดลวดลายต่างๆ ลงไปบนเครื่องกระเบื้องก็ทำอย่างพิถีพิถันไม่แพ้กัน โดยยงเจิ้งได้มอบหมายให้จิตรกรของราชสำนักไม่ว่าจะเป็น 'ถังไต้' (唐岱) 'ไต้เหิง' (戴恆) 'เห้อจินคุน' (賀金昆) 'ทั้งจวินจี' (湯振基) และ 'หลางชื่อหนิง' (郎世寧 ชื่อจีนของจุสเซปเป้ คัสจิลิโอนี่ พระเยซูอิตชาวอิตาเลียนที่มีความเชี่ยวชาญในการวาดภาพแบบตะวันตก) ร่างภาพต้นแบบที่จะใช้วาดลงบนเครื่องกระเบื้องขึ้นมาก่อน ลักษณะเฉพาะของลวดลายที่วาดคือดอกเหมยสีขาวบนพื้นสีแดงหรือสีดำ เนื่องจากจักรพรรดิจงเจิ้งทรงโปรดปรานดอกเหมยสีขาวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แล้วยังได้มีการคัดเลือกบทกวีโคลงกลอนในสมัยราชวงศ์ถังมาประกอบในภาพวาดด้วย กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เตรียมสีไปจนถึงการร่างและวาดลงบนเครื่องกระเบื้องทำในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง โดยที่เครื่องกระเบื้องเปล่าจะส่งมาจากจิ๋งเต๋อเจิ้น กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนมีความพิถีพิถันทุกรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สะท้อนตัวตนและรสนิยมของจักรพรรดิยงเจิ้ง ออกมาเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่ทรงคุณค่ามีความปราณีตงดงามเป็นเอก

ความคิดเห็น