เครื่องเคลือบหลู สีฟ้าหลังฝนในฝันของจักรพรรดิฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ




ในบรรดาเครื่องกระเบื้องจีน เรียกได้ว่าเครื่องเคลือบหลูนั้นเป็นเครื่องเคลือบที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามในทางศิลปะและมีความพิเศษเกี่ยวกับประวัติความเป็นมานับตั้งแต่กำเนิดผ่านกาลเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบัน บุคคลสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์จีนนับตั้งแต่จักรพรรดิฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือผู้ให้กำเนิดเครื่องเคลือบหลู จักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงผู้สั่งให้จารบทกลอนลงไปบนเครื่องเคลือบหลู และแม้กระทั่งจักรพรรดิปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนก็มีเรื่องราวผูกพันอยู่กับเครื่องเคลือบที่สุดแสนจะพิเศษนี้ และในปัจจุบันเครื่องเคลือบหลูได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก ว่าเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมประเภทจับต้องไม่ได้ของจีน

จักรพรรดิฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้สั่งให้ทำเครื่องเคลือบหลูให้เหมือนสีฟ้าหลังฝนจากความฝันของพระองค์
จักรพรรดิฮุ่ยจง (ค.ศ. 1100-1125) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้ให้กำเนิดเครื่องเคลือบหลูนี้ ข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์จีนของอาจารย์ทวีป วรดิลก กล่าวถึงพระองค์ไว้ว่าทรงเบื่อหน่ายการชิงดีชิงเด่นในราชสำนักฝ่ายใน ทำให้ทรงหันมาสนใจด้านศิลปะ ทรงเป็นศิลปินที่มีความสามารถหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ แต่งบทกวี และการคัดตัวอักษร นอกจากนี้ยังโปรดให้หาดอกไม้ตลอดจนก้อนหินแปลกๆ จากทางใต้มาแต่งพระราชอุทยาน หินบางก้อนใหญ่มากบรรทุกใส่เรือล่องขึ้นมา ติดประตูน้ำติดสะพาน ติดกำแพงเมืองที่ไหนก็ให้รื้อลงเพื่อให้ก้อนหินผ่านมาได้ ด้วยความเป็นเอกในด้านศิลปะเช่นนี้จึงเป็นการการันตีความงดงามทางศิลปะอย่างเอกอุของเครื่องเคลือบหลูที่จะต้องผ่านการ QC ของพระองค์อย่างเข้มงวดทุกชิ้น
 
ภาพวาดฝีพระหัตถ์จักรพรรดิฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ภาพวาดนี้เป็นภาพนกป่าเกาะกิ่งล้าเหมย หรือเหมยขี้ผึ้ง ด้านซ้ายของภาพเป็นบทประพันธ์ว่าด้วยความรักที่ยืนยง เส้นสายตัวอักษรฝีพระหัตถ์ของจักรพรรดิฮุ่ยจงนั้นมีความสง่างามพริ้วไหวดุจใบไผ่ทองต้องลม

สีฟ้าเขียวสวยงามของเคลือบหลูนั้นตามตำนานเล่ากันว่าเกิดจากการที่จักรพรรดิฮุยจง แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ฝันถึงท้องฟ้าหลังฝนตกมีสีเขียวปนฟ้าสวยงามมากมาย เลยให้ช่างทำเครื่องเคลือบลองทำดู จึงออกมาเป็นเครื่องเคลือบสีฟ้าเขียวสวยงาม (ณ จุดนี้รู้สึกสงสารช่างทำน้ำเคลือบมาก เพราะไม่รู้ว่าสีในฝันของจักรพรรดินั้นเป็นยังไงเห็นก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็ต้องสร้างสรรค์น้ำเคลือบสีนี้ขึ้นมาให้จงได้ เพราะเป็นคำสั่งของจักรพรรดิ) บ้างก็ว่าโปรดให้ตั้งเตาเผาขึ้นในวังเลย แต่ในปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งผลิตเครื่องเคลือบหลูที่มณฑลเหอหนาน เขตเป่าฟง (宝丰县) แหล่งผลิตอยู่ใกล้ๆ วัดชิงเหลียนซื่อ (清凉寺) และที่เรียกว่าเครื่องเคลือบหลูนั้นก็เรียกตามแหล่งผลิตคือ หลูโจ (汝州) นั่นเอง


เครื่องเคลือบหลูนั้นทำขึ้นตามคำสั่งของจักรพรรดิและผลิตขึ้นใช้ในราชสำนักเท่านั้น และผลิตขึ้นในช่วงระยะเวลาที่สั้นมากคือประมาณ 20 ปี (.. 1086-1106) ก่อนที่ราชวงศ์ซ่งเหนือจะล่มสลาย ว่ากันว่าชิ้นที่ไม่ผ่าน QC ของราชสำนักเท่านั้นที่จะหลุดออกสู่ตลาด มีเรื่องเล่าว่าพวกชนเผ่าหนี่เจินได้บุกทำลายแหล่งผลิตจนราบเรียบเป็นหน้ากลอง บ้างก็ว่าเป็นคนจีนนั่นแหละที่ทำลายเองเพื่อไม่ให้สมบัติล้ำค่าเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของศัตรู
ด้วยเหตุนี้ทำให้เครื่องเคลือบหลูที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนั้นมีน้อยกว่า 70 ชิ้น 

ตามข้อมูลจากหนังสือของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน ในจำนวนที่เหลือนี้ 20 ชิ้นอยู่ที่ปักกิ่ง 21 ชิ้นอยู่ที่ไต้หวัน ที่อังกฤษในความครอบครองของ Percival David Foundation อีกอย่างน้อย 7 ชิ้น และก็มีอยู่ที่ Hong Kong Museum of Art ที่ British Museum (สองที่หลังนี่ไม่ทราบว่ามีกี่ชิ้นนะครับ)

ข้อมูลอีกแหล่งจากวิกิว่า
พิพิภัณฑ์กู้กงไทเป ไต้หวัน มีอยู่ 21 ชิ้น
British Museum ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มี 17 ชิ้น
พิพิธภัณฑ์กู้กงที่ ปักกิ่ง ประเทศจีน มี 15 ชิ้น
พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ 8 ชิ้น
Rohsska Museum ประเทศสวีเดน 2 ชิ้น

แล้วก็มีที่พิพิธภัณฑ์ตามนี้ที่ละชิ้น
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน ปักกิ่ง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เทียนจิน
พิพิธภัณฑ์เครื่องกระเบื้องตะวันออก ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ฮ่องกง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์
พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซนต์หลุยส์
พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต
พิพิธภัณฑ์แอชโมเลน ที่อ็อกซ์ฟอร์ด
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Ru_ware

จากสารคดีว่าด้วยสมบัติล้ำค่าของจีนในพิพิธภัณฑ์พระราชวังที่ไทเป ตอนที่ 8 พูดถึงเครื่องกระเบื้องของสะสมของ Sir Percival David ว่าจักรพรรดิปูยีเอาเครื่องกระเบื้องในพระราชวังต้องห้ามไปค้ำประกันเงินกู้ พูดง่ายๆ ก็คือเอาไปจำนำกับธนาคารต่างประเทศ แล้วไม่ได้ไปไถ่คืน กลายเป็นของหลุดจำนำ Sir Percival David  ไปซื้อกลับอังกฤษในปี 1935 ปัจจุบันเครื่องกระเบื้องในกรุของ Sir Percival David จัดแสดงอยู่ใน British Museum. ห้องที่ 95

เครื่องเคลือบหลูที่จักรพรรดิปูยีเอาไปจำนำไว้กับธนาคารต่างชาติในกรุงปักกิ่ง เซอร์เพอร์ซิวาล เดวิด ซื้อกลับไปอังกฤษปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ British Museum

ด้วยมีหลงเหลือตกทอดมาจำนวนน้อยมากทำให้เครื่องเคลือบหลูถือเป็นสมบัติล้ำค่าแม้แต่ในสมัยซ่งเอง มีบันทึกจากเอกสารร่วมสมัยว่าใน ค.. 1151 จักรพรรดิเกาจง แห่งราชวงศ์ซ่งใต้ ได้เสด็จไปบ้านขุนนางคนโปรด (บ้างก็ว่าเป็นเจ้าชาย) จาง ชุน โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จาง ชุน ได้นำเอาเครื่องเคลือบหลูจำนวน 16 ชิ้น มาให้จักรพรรดิทอดพระเนตร นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องเคลือบหลูนี่เป็นของสะสมล้ำค่าหายาก คู่ควรที่จะเอามาอวดจักรพรรดิได้

จักรพรรดิเกาจงแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ ผู้สั่งให้จารตัวอักษรเฟิงฮวา ไว้บนเครื่องเคลือบหลูเพื่อมอบให้กับสนมคนโปรด

นอกจากนี้แล้วจักรพรรดิเกาจง ยังได้พระราชทานเครื่องเคลือบหลูให้กับสนมคนโปรด แล้วก็ให้จารึกอักษร 奉華 อ่านว่า เฟิงฮวา ซึ่งเป็นชื่อตำหนักที่นางสนมคนนี้อยู่ การให้ของล้ำค่าหายากเช่นนี้เป็นการแสดงความรักให้เป็นที่ประจักษ์ (奉華 นี่คือตัวอักษรสองตัวที่อยู่ทางด้านซ้ายของภาพที่เอามาประกอบครับ)


ชื่อเสียงเกียรติคุณของเครื่องเคลือบหลูนี่สืบต่อมาจนในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง ซึ่งทรงโปรดปรานเครื่องเคลือบหลูมากถึงขนาดประพันธ์บทกวีถึงเครื่องเคลือบหลูแต่ละชิ้น แล้วให้จารบทกลอนนั้นลงไปบนเครื่องเคลือบหลูซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 13 ชิ้น ด้วยกัน ผู้เชียวชาญด้านเครื่องเคลือบจีนบางท่านก็เห็นว่าเป็นความมือบอนของจักรพรรดิเฉียนหลง เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทำลายคุณค่าและความงามของเครื่องเคลือบไปอย่างน่าเสียดาย กลอนที่แกสั่งให้จารลงบนอ่างปลูกดอกสุ่ยเซียนแกว่าน่าจะเอาไว้ใส่อาหารให้แมวกิน เอิมมมมม คิดได้ไง แต่การจารบทกลอนของจักรพรรดิเฉียนหลงลงไปบนเครื่องเคลือบหลูนี่ในสายตาของผู้นิยมชมชอบของเก่าก็มองว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับเครื่องเคลือบหลูไปอีกทาง ก็แล้วแต่คนจะมองละกันครับ
 
การแสดงความชื่นชมในเครื่องเคลือบหลูในสมัยต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นและเป็นเอกในมวลเครื่องเคลือบของจีนแล้ว ยังเป็นเรื่องราวที่สร้างคุณค่าให้กับเครื่องเคลือบหลูเป็นอย่างมาก และล่าสุดในปัจจุบันยูเนสโก้ได้ขึ้นทะเบียนให้เครื่องเคลือบหลูเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันมีการทำซ้ำเครื่องเคลือบหลูออกมาขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก

อ่างปลูกดอกสุ่ยเซียนที่จักรพรรดิเฉียนหลงโปรดให้จารบทกลอนลงไป เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ไม่มีรอยแตกรานของน้ำเคลือบเลย
บทกลอนที่จักรพรรดิเฉียนหลงโปรดให้จารลงไปบนเครื่องเคลือบหลู

เครื่องกระเบื้องหลู นอกจากสีเขียวอมฟ้าสวยงามแล้ว ลักษณะพิเศษของเครื่องกระเบื้องหลูคือมีฟองอากาศเล็กๆ บนผิวของน้ำเคลือบ เกิดจากส่วนผสมที่เป็นหินโมรา เมื่อเผาโมราจะทำให้เกิดฟองอากาศเล็กๆ ออกมา ผลที่ได้คือเครื่องกระเบื้องที่มีผิวคล้ายหยก แต่สวยงามกว่าหยก หนังสือของคุณไนเจล วู๊ด บอกลักษณพิเศษของน้ำเคลือบของเครื่องกระเบื้องเคลือบหลูว่ามีรอยแตกรานในแนวขวางที่ฝรั่งเรียกว่า "ปีกจั๊กจั่น" จีนจะเรียกว่า "ปูไต่" (蟹爪纹) รูปที่เอามาให้ดูนี่คือ Alexander Bowl ของ British Museum ว่ากันว่าเครื่องเคลือบหลูบางชิ้นก็ไม่มีรอยแตกรานของน้ำเคลือบเลย และได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นเอกเหนือกว่าเครื่องเคลือบหลูที่มีรอยแตกรานของน้ำเคลือบ อ่างปลูกดอกสุ่ยเซียนที่จักรพรรดิเฉียนหลงให้จารบทกลอนลงไป แถมทำแท่นที่ตั้งให้เป็นพิเศษก็ไม่มีรอยแตกรานของน้ำเคลือบเลยครับ อ่างใบนี้เคยเอาไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะจีนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน ค.ศ. 1935 ด้วยความที่สวยงามไม่มีที่ติเซอร์เพอร์ซิวาล เดวิด ถึงกับออกปากว่าไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นของทำในสมัยซ่ง น่าจะเป็นของทำเลียนแบบสมัยชิง (ทั้งนี้เนื่องจากของที่ราชสำนักชิงทำเลียนแบบของโบราณนั้นมีความเฟอร์เฟ็คสวยงามสูงมาก) การขุดค้นที่แหล่งเตาเผาเครื่องเคลือบหลูพบว่ามีเศษชิ้นกระเบื้องแตกๆ ที่ไม่มีรอยแตกรานของน้ำเคลือบมากมายนั่นแสดงให้เห็นว่าการเผาให้ชิ้นงานไม่มีรอยแตกรานเลยนั้นเป็นของที่ทำได้ยากมาก จึงมีชิ้นงานที่ไม่ผ่านการ QC อยู่เป็นจำนวนมาก

Alexander Bowl ของ British Museum

ลักษณะการแตกรานของน้ำเคลือบในแนวขวางที่ฝรั่งเรียกว่า "ปีกจั๊กจั่น" จีนจะเรียกว่า "ปูไต่" (蟹爪纹)


พูดถึงเครื่องเคลือบหลูแล้วก็ต้องพูดถึงเครื่องเคลือบกวนและเครื่องเคลือบเกอด้วย เนื่องจากเป็นของที่ผลิตต่อเนื่องมาจากเครื่องเคลือบหลู อย่างที่พูดไปแล้วว่าเครื่องเคลือบหลูที่ผลิตขึ้นในสมัยจักรพรรดิฮุ่ยจง ราชวงศ์ซ่งเหนือนั้นเมื่อถูกรุกรานและจักรพรรดิฮุ่ยจงและรัชทายาทถูกจับตัวไป ลูกชายคนรองของจักรพรรดิฮุ่ยจงหนีลงมาตั้งราชวงศ์ซ่งใต้ที่หางโจว ก็ได้ตั้งเตาเผาผลิตเครื่องเคลือบขึ้นใช้ เครื่องเคลือบที่ผลิตนี้เรียกว่าเครื่องเคลือบ "กวน" ซึ่งแปลเป็นไทยก็ประมาณว่าเป็น "ของหลวง" เทคนิควิธีก็น่าจะแบบเดียวกับที่ใช้ผลิตเครื่องเคลือบหลูนั่นแหละครับ เพราะช่างที่ทำก็คงหอบหิ้วกันมา 

เครื่องเคลือบกวนในสมัยซ่งใต้ สันนิษฐานกันว่าเมื่อลี้ภัยลงมาอยู่ทางใต้ ไม่ทันได้เอาเครื่องสัมฤทธิ์โบราณที่ใช้ในพิธีกรรมเซ่นสรวงลงมาด้วย จึงได้ทำเครื่องกระเบื้องเลียนแบบรูปทรงของภาชนะสัมฤทธิ์โบราณสำหรับเอาไว้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงต่างๆ
 
เครื่องเคลือบอีกชนิดหนึ่งที่ถือว่ามีความสืบเนื่องกันคือเครื่องเคลือบ "เกอ" เกอแปลว่าพี่ชาย ตำนานว่าเจ้าของเตาเผากวนกับเกอนี่เป็นพี่น้องกัน เจ้าของเตาเผากวนนั้นผลิตเครื่องเคลือบที่มีรอยแตกรานสวยงาม เจ้าของเตาเผาเกอนั้นเผาได้เครื่องเคลือบที่มีสีสวยงามเหมือนหยก บ้างก็ว่าเป็นเตาเดียวกับที่ผลิตเครื่องเคลือบหลงฉวนนั่นแหละ (หลงฉวนนี่เป็นเกรดของขายนะครับ ขายไปทั่วโลก ในบ้านเราก็มีเยอะแยะ แต่กวนกับเกอนี่เป็นเกรดราชสำนักจีนใช้)

ภาชนะสำหรับอุ่นเหล้าทรงดอกบัวเครื่องเคลือบหลูสมัยซ่งเหนือ และจานทรงดอกเบญจมาศเครื่องเคลือบกวนสมัยซ่งใต้

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคลือบ กวน หรือ เกอ ที่ผลิตขึ้นมาหลังเครื่องเคลือบหลู ต่างก็ยึดเอารูปทรงของภาชนะต่างๆ ที่เครื่องเคลือบหลูได้ทำเป็นแบบไว้ แต่ก็มีรูปทรงใหม่ๆ ด้วยโดยเฉพาะถ้วยหรือชามกลีบดอกไม้ครับ

จานทรงกลีบดอกไม้ ลักษณะเด่นของเครื่องเคลือบกวน และเกอ
 

จะด้วยวัตถุดิบต่างกัน รึเกิดเบื่อเครื่องเคลือบหลูไม่ทราบได้ ช่างกระเบื้องได้สร้างสรรค์เครื่องกระเบื้องกวนขึ้นมา ลักษณะเด่นของเครื่องเคลือบกวนคือการเคลือบน้ำเคลือบหลายชั้น ทำให้เกิดการแตกรานที่ผิวของน้ำเคลือบแต่ละชั้นที่ไม่เท่ากัน ซ้อนทบกันไปมาเกิดเป็นความสวยงามแปลกตาอีกแบบ ว่ากันว่าการที่ช่างทำเครื่องกระเบื้องหลวงที่มาทำเครื่องกระเบื้องที่หางโจวนี้น่าจะมีส่วนถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำเครื่องกระเบื้องให้กับทางใต้จนเกิดพัฒนาการในการทำเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้นด้วยครับ
อีกอันที่ทิ้งท้ายไว้นิดนึงคือ นอกจากกวนและเกอจะมีความสัมพันธ์ที่ไกล้กันมากแล้ว เครื่องกระเบื้องหลงฉวนเองก็เนียน ทำเลียนแบบของหลวงกับเค้าด้วย จนแม้กระทั่งในปัจจุบันร้านที่ทำเครื่องกระเบื้องหลงฉวนขาย ยังทำเครื่องกระเบื้องกวนและเกอด้วย (ในอดีตนั้นเครื่องกระเบื้องหลวงฉวนเป็นเครื่องกระเบื้องเกรดคนทั่วไปใช้กัน เป็นสินค้าส่งออกอะไรประมาณนั้น)
 จากข้อมูลในบล็อคของคุณป้า Alain R. Truong ว่าเครื่องเคลือบกวนและเกอนั้นมันเหมือนกันมากจนแทบจะแยกไม่ได้ เอกสารโบราณก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย จนในปี 1992 พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเครื่องเคลือบสมัยซ่งทั้งจากจีนและทั่วโลกมาเสวนากันว่าจะแยกเครื่องเคลือบกวนและเกอออกจากกันได้อย่างไรได้ข้อสรุปว่าเครื่องเคลือบเกอนั้นต้องมีรอยแตกรานที่เรียกว่า "jinsi tiexian" หรือ "golden thread and iron wire" แปลเป็นไทยก็คงประมาณ "เส้นไหมทองและสายไยเหล็ก"

ลักษณะการแตกรานของเครื่องเคลือบเกอที่เรียกว่าเส้นไหมทองและสายไยเหล็ก

เส้นไหมทองคือรอยแตกรานเส้นเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน สายไยเหล็กคือรอยแตกรานสีดำเส้นใหญ่ตามที่เห็นในภาพประกอบนี้แหละครับ
สำหรับท่านที่ต้องการข้อมูลมากกว่านี้ตามลิงค์นี้ได้เลยครับ
http://www.alaintruong.com/archives/2015/11/30/33003308.html

นอกจากเครื่องเคลือบกวนและเกอแล้ว เครื่องเคลือบหลูยังส่งอิทธิพลไปยังเครื่องเคลือบเกาหลีที่ทำในสมัยราชวงศ์ โครยอ (.. 918-1392) ตรงกับจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ไม่น่าแปลกที่รับรูปแบบและรูปทรงของเครื่องเคลือบสมัยซ่งเหนือไปหลายอย่าง ทั้งน้ำเคลือบ (เทียบเคียงกับเครื่องเคลือบหลู) แต่ของเกาหลีน้ำเคลือบจะออกสีเขียวๆ ไม่เหมือนหลูซะทีเดียว อาจจะเป็นวัสดุที่เอามาทำน้ำเคลือบที่ต่างกันสีน้ำเคลือบเลยไม่เหมือนกัน 

เครื่องเคลือบเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลจากเครื่องเคลือบหลู แต่ได้พัฒนาเทคนิคการแกะลวดลายและใช้เนื้อดินที่มีสีแต่างออกไปเติมเข้าไปในเนื้อดินที่แกะออกเกิดเป็นลวดลายและเอกลักษณ์ของเครื่องเคลือบเกาหลี
 
รูปทรง อย่างที่เคยพูดไปแล้วว่าแจกันเหมยผิง นี่เป็นซิกเนเจอร์ของสมัยซ่งเลย ไม่นับรวมพวกเตาเผาเครื่องหอมรูปนกอ้าปากและรูปทรงอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมกันมากในสมัยซ่ง (ในพิพิธภัณฑ์กู้กงสาขาใต้ มีส่วนที่จัดแสดงเปรียบเทียบเครื่องเคลือบโครยอที่ได้รับอิทธิพลจากเครื่องเคลือบหลูสมัยซ่งเหนือด้วย)
ในช่วงสมัยซ่งใต้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีไม่ค่อยดีนัก อิทธิพลการทำเครื่องเคลือบของจีนก็พลอยลดลงด้วย แต่ก็ถือเป็นข้อดีที่เกาหลีได้พัฒนาเทคนิควิธีของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นก็คือเทคนิคที่เรียกว่า inlay celadons เทคนิคนี้คือการขูดลวดลายลงไปในเนื้อภาชนะในขณะที่ยังเป็นดินเหนียวขึ้นรูป แล้วก็เติมเนื้อดินสีอื่นเข้าไปในลวดลายที่ขูดไว้ เผาออกมาก็จะได้ลวดลายสองสีหรือหลายสีตามสีเนื้อดินที่เติมลงไปในลายที่ขูดไว้
เทคนิคนี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของการทำเครื่องกระเบื้องในเกาหลีในศตวรรษที่ 13 และ 14 และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์กู้กงสาขาใต้ ได้ยืมเครื่องเคลือบที่ทำในสมัยราชวงศ์โครยอจำนวน 200 ชิ้น มาจาก Museum of Oriental Ceramics, จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น มาจัดแสดงครับ เสียดายไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มที่ว่าด้วยเครื่องเคลือบเกาหลีเล่มนี้มาด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ Grand View: Special Exhibition of Ju Ware from the Northern Sung Dynasty ของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับสารคดีชุด Journeys in Time ของช่อง CCTV ประกอบกับบทความจากอินเตอร์เนท


 

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ7 เมษายน 2565 เวลา 04:07

    Bet365 Casino & Promos 2021 - JTM Hub
    Full list of Bet365 www.jtmhub.com Casino & Promos · Up to £100 https://jancasino.com/review/merit-casino/ in Bet Credits for new customers at bet365. Min deposit £5. Bet Credits 출장마사지 available for use upon settlement of bets ventureberg.com/ to sol.edu.kg value of

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม