เจาะลึกเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ของจักรพรรดิเฉียนหลง




จักรพรรดิเฉียนหลงราชวงศ์ชิงเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของจีน เป็นผู้ที่มีความสนใจในศิลปะเป็นอย่างมาก เป็นนักสะสมตัวยง  และในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงนี้เองแกได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการรังสรรค์เครื่องกระเบื้องชนิดใหม่ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า เครื่องกระเบื้อง หยางไฉ่ ซึ่งมีความละเอียดพิศดารสวยงาม และเป็นเครื่องกระเบื้องชนิดท้ายๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองจีนครับ เทคนิคแบบนี้เอกสารโบราณของราชสำนักชิงเรียกว่า หยางไฉ่ และแน่นอนที่เครื่องกระเบื้องชนิดนี้จะเป็นที่จดจำว่าเป็นเครื่องกระเบื้องชิ้นเอกในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงด้วย

หยางไฉ่ นี่ ไม่ใช่นวตกรรมด้านสีที่เกิดขึ้นใหม่เหมือน ซาไฉ่ (สมัยถัง) โต้วไฉ่ (สมัยหมิง) หรือ ฝ่าหลางไฉ่ (สมัยชิง) ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายที่สุด หยางไฉ่ คือลักษณะการเขียนลวดลายที่มีรูปแบบเฉพาะแบบหนึ่งครับ คือเขียนลวดลายดอกไม้ก้านขดเป็นพื้นลาย แล้วเว้นช่องไว้สำหรับเขียนกลอนหรือวาดภาพอะไรก็ว่าไป แต่แบบไม่มีช่องว่างเขียนลายพรึดไปทั้งใบก็มีไม่น้อยนะครับ

แล้วที่หยางไฉ่โด่งดังมีชื่อเสียงนี่ก็ไม่ใช่อะไรครับ เพราะเป็นการฟิจเจอริ่งกันระหว่างจักรพรรดิเฉียนหลงพ่อทุกสถาบันและถังอิง นายช่างใหญ่ผู้เชี่ยวชาญการผลิตเครื่องกระเบื้องของราชวงศ์ชิง ทำงานผลิตเครื่องกระเบื้องให้ราชสำนักชิงมาถึง 2 รัชการ คือ หย่งเจิ้ง และเฉียนหลง ความเก๋าเกมส์ไม่ต้องพูดถึง

เฉียนหลงมีส่วนสำคัญอะไรในการรังสรรค์เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ นอกจากจะเป็นโปรดิวส์เซอร์แล้ว แก่ยังกำหนดลักษณะพิเศษบางประการของเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ด้วย อย่างที่รู้ๆ จักรพรรดิเฉียนหลงชอบแต่งกลอน แกก็ให้เอากลอนที่แกแต่งนั่นแหละ ไปเขียนไว้ในช่องที่ว่างไว้ ส่วนถัง อิงก็คิดลวดลายวางรูปแบบให้สวยงามพิศดารไปตามเรื่อง เทคนิคการวาดโดยเฉพาะสีมันก็คือเทคนิคฟาหลางไฉ่ ที่คิดค้นกันในสมัยคังซีนั่นแหละครับ

ความแตกต่างระหว่างฟาหลางไฉ่กับหยางไฉ่อย่างนึงก็คือ ฟาหลางไฉ่นี่มาเก็บอาร์ตปิดจ็อบกันในกองช่างหลวงผลิตเครื่องกระเบื้องในวังที่ปักกิ่ง แต่หยางไฉ่นี่ทำครบถ้วนทุกกระบวนการที่จิ๋งเต๋อเจิ้น เสร็จแล้วส่งเข้าวังทีเดียวเลย






ขั้นตอนการทำเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ นวตกรรมเครื่องกระเบื้องจีนในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง สีไม่มีใหม่แล้วไม่เป็นไร คิดแพทเทิร์นใหม่เอาก็ได้ ภาพจากหนังสือ Stunning Decorative Porcelains from the Ch'ien-lung Reign ของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันครับ

ขั้นแรกเลยก็เอาชิ้นงานที่ขึ้นรูปมาเขียนตรารัชกาลก่อนด้วยโคบอลต์ ชุบน้ำเคลือบใสแล้วเอาไปเผาที่อุณหภูมิสูง เพราะโคบอลต์ใช้อุณหภูมิสูงในการเผา จากนั้นเอามาลงสีพื้น ในชิ้นนี้ใช้สีแดง เว้นช่องที่จะเป็นลวดลายไว้ แล้วเอาไปเผาอีกรอบ แล้วจึงเอามาวาดลวดลายดอกไม้ใบไม้ เขียนภาพในช่องวงกลมที่เว้นไว้ เสร็จแล้วจึงเอาไปเผาอุณหภูมิต่ำให้สีสุกอีกรอบ (สีที่เรียกว่าฟาหลางไฉ่ที่คิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซีนี่ใช้อุณหภูมิต่ำในการเผาครับ) สำเร็จเป็นชิ้นงานหยางไฉ่ของเฉียนหลงพ่อทุกสถาบัน


ในหนังสือ Stunning Decorative Porcelains from the Ch'ien-lung Reign ของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน ในภาคบรรบายภาษาอังกฤษ เค้าเรียกลวดลายที่เป็นพื้นของเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ว่า Flower Brocade Pattern คือลายดอกไม้ผ้าปัก




ลองดูรูปที่เอามาให้ดูสองรูปนี่ก็จะถึงบางอ้อครับว่ามันเหมือนลายผ้าปักจริงๆ อันสีเหลืองๆ นั่นเป็นเบาะหรือหมอนอิง เป็นผ้าปักของสมัยเฉียนหลง ส่วนแจกันสีชมพูนี่เป็นเครื่องเคลือบหยางไฉ่สมัยเฉียนหลงเหมือนกันครับ เดาว่ามันน่าจะมีสตอรี่ประมาณว่าสนมคนโปรดปักผ้าทำเบาะหมอนให้เฉียนหลง แกเห็นว่าเออสวยดีน่าจะเอาไปทำเป็นลายเครื่องกระเบื้องได้ เลยมอบหมายให้ถังอิง ลองไปทำดู อะไรประมาณนี้ ทั้งหมดนี่โดยเดานะครับ ไม่มีหลักฐานอะไรใดๆ ทั้งสิ้น

ปฐมบทความงง



มาว่าด้วยความงงและความสับสนระดับสูงสุดของเครื่องเคลือบที่เรียกว่า หยางไฉ่ 洋彩 จากบทความ 'ว่าด้วยเครื่องเคลือบหยางไฉ่ในสมัยเฉียนหลง' ของคุณป้าเหลียวเป่าโช ภัณฑารักษ์อาวุโสของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน ที่ว่างงระดับสูงสุดนั้นด้วยเหตุหลายประการ 
 
ประการแรกคือ บางทีก็เรียกเครื่องกระเบื้องชนิดนี้ว่า เฝินไฉ่ 粉彩 ซึ่งน่าจะแปลได้ประมาณว่า 'ผงสี' ซึ่งคุณป้าคอนเฟิร์มว่าชื่อนี้เกิดจากความผิดพลาดในการติดป้ายชื่อตอนเอาไปจัดแสดงในช่วงยุคต้นสาธารณะรัฐ (ขอเม้าท์ว่าในเวปของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันเองก็ยังใช้คำนี้เรียกเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่)
ซึ่งคุณป้าได้ตรวจสอบเอกสารโบราณของราชสำนักชิงที่ได้บันทึกเกี่ยวกับเครื่องเคลือบชนิดนี้ไว้ ทั้งจาก กองช่างศิลป์หลวง (Imperial Workshop) และ บันทึกรายการของของ สำนักพระราชวัง (Court Inventory) ของราชวงค์ชิง ตลอดจนบันทึกของถังอิง ผู้รังสรรค์เครื่องกระเบื้องชนิดนี้ขึ้นมา คอนเฟิร์มล้านเปอร์เซ็นต์ว่าชื่อของเครื่องกระเบื้องชนิดนี้คือ 'หยางไฉ่' จ้าาาาา

คุณป้าอธิบายเพิ่มเติมว่า หยางไฉ่นั่น ง่ายๆ เลยคือสี ฟาหลางไฉ่ ที่ใช้เทคนิคการวาดที่หยิบยืมมาจากตะวันตกในการวาดลวดลายโดยคำว่าหยางในภาษาจีนนั้นจะหมายถึงทะเล และใช้หมายถึงประเทศโพ้นทะเลทั้งปวงด้วย และเทคนิคที่เอามาใช้ในการวาดลวดลายเครื่องกระเบื้องชนิดนี้ก็หยิบยืมมาจากตะวันตก เลยเรียกเครื่องกระเบื้องชนิดนี้ว่าหยางไฉ่

ความสับสนประการต่อมา เครื่องกระเบื้องที่คุณป้าแกเลือกเอามาให้ดูในนิทรรศการนั้น ทั้ง หยางไฉ่ และฟาหลางไฉ่ บางชิ้นนี่มันแทบจะแยกกันไม่ออกเลยครัชท่านผู้ชม แต่คุณป้าแกยืนยันว่า หยางไฉ่ และ ฟาหลางไฉ่นั้นมันมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย แยกได้แน่นอนค่ะ โปรดติดตามในรายละเอียดตอนต่อไปครับ



ว่าด้วยความสับสนของการเรียกชื่อ ระหว่าง หยางไฉ่ ฟาหลางไฉ่ และเฝินไฉ่

คุณป้าเหลียวเป่าโช ภัณฑารักษ์อาวุโสของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันบอกว่า เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่นี่รังสรรค์ขึ้นมาในช่วงที่ราชวงศ์ชิงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในพระตำหนักถวนหนิงเตี้ยนและพระตำหนักหยางชิงเตี้ยน ในเฉียนชิงกง จนถึงปี 1925 เมื่อมีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กู้กงขึ้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสำรวจและทำทะเบียนทรัพย์สินมีค่าของราชวงศ์ชิง

ไม่มีความรู้เรื่องอาคารในพระราชวังต้องห้ามเท่าไหร่ แต่จากการค้นข้อมูลได้ความว่าในภาพนี้คือเฉียนชิงกง ซึ่งพระตำหนักถวนหนิงเตี้ยนและพระตำหนักหยางชิงเตี้ยน ก็อยู่ในบริเวณใกล้ๆ กันนี้

แผนผังแสดงที่ตั้งเฉียนชิงกง และพระตำหนักหยางชิงเตี้ยน (หมู่อาคารที่อยู่ด้านขวาของเฉียนชิงกง) คิดดูละกันครับว่าเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่เก็บรักษาไว้ตรงจุดที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของพระราชวังต้องห้ามจะมีความพิเศษ และสำคัญมากขนาดไหน

ภาพขยายเฉียนชิงกงและพระตำหนักหยางชิงเตี้ยน

ภาพขยายหยางชิงเตี้ยน

จุดเริ่มต้นของความสับสนมาบังเกิดเมื่อมีการจัดของไปแสดงในนิทรรศการ International Exhibition of Chinese Art ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษในปี 1935 คนจัดของไปจัดแสดงในขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ 9 ชิ้น เป็นเฝินไฉ่ ทั้งๆ ที่ในเอกสารของคณะกรรมการสำรวจและทำทะเบียนเรียกเครื่องกระเบื้อง 9 ชิ้นนี้ว่าหยางไฉ่ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็เลยติดปากเรียกเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ ว่าเฝินไฉ่ ไป

เท่านั้นยังงงไม่พอ พี่แกยังไปติดป้ายเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่อีก 9 ชิ้น ว่าเป็นฟาหลางไฉ่ ทั้งๆ ที่ในบันทึกรายการของในสมัยราชวงศ์ชิงและเอกสารของคณะกรรมการสำรวจฯ ก็เรียกเครื่องกระเบื้อง 9 ชิ้นนี้ว่าหยางไฉ่เหมือนกัน คุณป้าเหลียวแกเลยสันนิษฐานว่าคนที่ทำคงเข้าใจว่า หยางไฉ่กับฟาหลางไฉ่นั่นเป็นชนิดเดียวกัน เพียงแต่เรียกไม่เหมือนกัน โดยคุณป้าแกอ้างอิงข้อความในสูจิบัตรของนิทรรศการในครั้งนั้นว่า

"เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่นั้นใช้สีจากตะวันตก บันทึกของสำนักพระราชวังเรียกเครื่องกระเบื้องชนิดนี้ว่าฟาหลาง แต่ต่อมาในปี 1743 ซึ่งเป็นปีที่ 8 ในรัชกาลเฉียนหลงได้เปลี่ยนมาเรียกว่า หยางไฉ่"

พอมาถึงนิทรรศการที่คุณป้าแกจัด ก็เลยเปลี่ยนกลับไปเรียกหยางไฉ่ ตามที่เอกสารของราชวงศ์ชิง 2 ฉบับ และจากเอกสารของคณะกรรมการสำรวจฯ อีก 1 ฉบับยันกัน 3 ต่อ 1 เลยทีเดียว ตอนต่อไปจะมาดูกันว่า คำว่าหยางไฉ่นี่เริ่มใช้เมื่อไหร่ มีความเป็นมาอย่างไรกันครับ



รู้จักฟาหลางไฉ่ให้ลึกก่อนจะรู้จักหยางไฉ่

คำว่า หยางไฉ่ นี้พบใช้เป็นครั้งแรกในปีที่ 13 ในรัชศกหย่งเจิ้ง ตรงกับ ค..1735 อ้างถึงในหนังสือ "บันทึกว่าด้วยเครื่องเคลือบ" ของถังอิง แกเขียนไว้ว่า 
 
"...เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่นั้น คือเครื่องเคลือบที่ใช้เทคนิคของฟาหลางไฉ่ ที่มีสไตล์การวาดภาพแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นภาพบุคคล ทิวทัศน์ ดอกไม้ ขนนก..."

ด้วยเหตุนี้ทำให้บันทึกของกองช่างศิลป์หลวงและบันทึกรายการสิ่งของของสำนักพระราชวังรวมเครื่องเคลือบหยางไฉ่และฟาหลางไฉ่ที่เก็บรักษาไว้ที่เฉียนชิงกงไว้ด้วยกัน ใน ค.. 1743 ปีที่ 8 ในรัชกาลเฉียนหลง ถังอิง ได้จัดทำหนังสือภาพ การทำเครื่องกระเบื้อง ว่าด้วยการผลิตเครื่องกระเบื้องของหลวงที่จิ๋งเต๋อเจิ้น ในบทที่ 17 ถัง อิงได้อธิบายว่า สีที่ใช้ในเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่และฟาหลางไฉ่นั้นเป็นสีแบบเดียวกัน ทำให้ยากที่จะแยกแยะได้ ถังอิงอธิบายต่อไปว่า หยางไฉ่นั้นเป็นการวาดโดยใช้เทคนิคของตะวันตก ด้วยเหตุนี้การแยกแยะเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่และหยางไฉ่ให้ดูที่รายละเอียดการวาดและลวดลายที่ปรากฎ

คุณป้าเหลียวเป่าโช ภัณฑารักษ์อาวุโสของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันบอกว่าจากการสำรวจเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ที่เคยเก็บรักษาไว้ที่เฉียนชิงกงของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันพบว่า มีความแตกต่างในสไตล์การวาดอย่างที่ถังอิงกล่าวไว้จริง ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเครื่องกระเบื้องทั้งสองชนิดอีกหลายประการคือ สถานที่ผลิต และการเขียนตรารัชกาล แม้กระนั้นการจำแนกว่าชิ้นไหนเป็นฟาหลางไฉ่ ชิ้นไหนเป็นหยางไฉ่ก็เป็นของที่จะฟันธงได้ยากมาก 
 
คุณป้าแกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ที่พิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันเก็บรักษาไว้ดังนี้

1. ส่วนใหญ่แล้วเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่จะวาดภาพตามประเพณีนิยมของราชสำนักจีน (ภาพทิวทัศน์และดอกไม้ตามฤดูกาล) และไม่พบว่าใช้เทคนิคในการวาดของตะวันตก



2. ตามบันทึกของกองช่างศิลป์หลวง เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ส่วนใหญ่ทำที่จิ๋งเต๋อเจิ้นภายใต้การควบคุมดูแลของถังอิง ในขณะที่เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่มาตกแต่งเก็บรายละเอียดใน 'แผนกฟาหลาง' ของกองช่างศิลป์หลวง ในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง

3. มีความแตกต่างในรายละเอียดของชิ้นงานที่ทำเป็นคู่ เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่จะวาดลวดลายเหมือนกันเปี๊ยบ แต่เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่จะมีความแตกต่างนิดๆ หน่อยๆ หรือสองใบต่างกันไปเลย



4. มีความแตกต่างของตราประทับและโคลงกลอนที่เขียนในชิ้นงาน
ปล. ภาพประกอบทั้งหมดเป็นเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันครับ



ความแตกต่างของกลอนที่เขียนลงบนเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่และฟาหลางไฉ่


เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่นั้นทำมาตั้งแต่สมัยคังซี หย่งเจิ้ง โดยทั่วไปจะทำเป็นคู่ มีความแตกต่างในรายละเอียดอย่างที่เคยพูดไปแล้ว ของที่ผลิตในสมัยคังซีลายตกแต่งจะมีลักษณะสมมาตร ส่วนฟาหลางไฉ่ที่ทำในสมัยหย่งเจิ้งและเฉียนหลงลักษณะการวาดก็ไม่เหมือนกัน ความต่างนี้ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่ามันไม่ได้ทำมาเป็นคู่



ส่วนเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ที่ทำมาเป็นคู่นั้นมีลักษณะที่เหมือนกันมาก ทำเป็นคู่ทุกสิ่งอันมีตั้งแต่ชาม จาน เครื่องชา ถ้วยชา ไปจนถึงแจกันแฝด และแจกันที่ใช้ในราชยาน คานหาม และแทบจะไม่มีชิ้นไหนเลยที่วาดลวดลายต่างกัน

เฉียนหลงโปรดให้เอากลอนที่แกแต่งมาเขียนลงบนเครื่องกระเบื้องด้วย โดยเฉพาะกลอนที่แกแต่งไว้ก่อนขึ้นครองราชย์ ที่รวบรวมไว้ใน Complete Works from the Lo-shan-t'ang Hall แล้วก็เขียนตราประทับของพระองค์กำกับไว้ด้วย แต่เครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่นั้นไม่เขียนกลอนที่เฉียนหลงแต่งเลย ถ้าจะเขียนกลอนก็เป็นกลอนโบราณสมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง อะไรเทือกนั้น







เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ของดีของล้ำค่าของราชวงศ์ชิง






เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่และฟาหลางไฉ่ที่ทำในสมัยเฉียนหลงนั้นมีมูลค่าสูงมากในราชสำนักชิง และเป็นเครื่องกระเบื้องที่จักรพรรดิชื่นชมยกย่อง เป็นของหายากเนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีในการทำเครื่องเคลือบในเวลานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชามข้าว ถ้วยชา ชามน้ำแกง และจาน มีแจกันอยู่น้อยมาก แจกันนี้ส่วนใหญ่ทำเป็นคู่ แต่ก็มีไม่กี่คู่ที่ประสบความสำเร็จในการเผา

ชิ้นงานทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในเฉียนชิงกง แต่มีที่เอาไปตั้งที่หยวนหมิงหยวนบ้างแต่น้อยชิ้น พอหยวนหมิงหยวนถูกเผาก็ถูกขโมยและท้ายที่สุดก็เอาออกไปขายนอกเมืองจีน เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่และฟาหลางไฉ่ไม่เคยใช้เป็นของขวัญจากราชสำนักชิงเหมือนเครื่องกระเบื้องชนิดอื่น เพราะฉะนั้นไม่มีหลุดออกไปนอกวังแน่ๆ ด้วยเหตุนี้เครื่องกระเบื้องหยางไฉ่และฟาหลางไฉ่ในคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันจึงเป็นของที่เก็บรักษาไว้ในเฉียนชิงกง อ้างอิงกับเอกสารบันทึกของสำนักพระราชวังชิงได้ทุกชิ้น

เทคนิคแบบนี้แหละที่เรียกว่าหยางไฉ่

ถ้ายังจำกันได้ตอนแรกๆ ที่ผมพูดถึงเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ ผมเข้าใจว่ามันเป็นรูปแบบการตกแต่งเครื่องกระเบื้องแบบหนึ่งคือการวาดลวดลายพื้นเป็นดอกไม้ก้านขดแบบงานผ้าปักของจีน แล้วเว้นช่องไว้เขียนลายทิวทัศน์รึอะไรก็ว่าไป แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ คุณป้าเหลียว เป่าโช ภัณฑารักษ์อาวุโส พิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน แกสำรวจเอกสารที่ถังอิงเขียนอธิบายเกี่ยวกับเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ สรุปลักษณะเฉพาะของเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ไว้เป็นข้อๆ ตามนี้

1. ใช้เทคนิคแสงเงาแบบตะวันตกในการวาดลวดลายตกแต่งบนเครื่องกระเบื้อง ทั้งในส่วนของภาพหลักและลวดลายตกแต่ง

2. ใช้สีขาวในส่วนของการวาดใบไม้ดอกไม้ เพื่อให้เกิดมิติแสงเงา เทคนิคนี้จะไม่พบในการวาดดอกไม้ใบไม้ของเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่

3. ใช้เทคนิคการไล่เฉดและเทคนิค perspective

การใช้เทคนิคไล่เฉดไม่ได้ใช้เฉพาะกับดอกไม้ ภาพคนก็ใช้นะครับ

4. ใช้องค์ประกอบการผูกลายดอกไม้ใบไม้แบบตะวันตก
การผูกลายแบบตะวันตกครับ เห็นแล้วนึกถึงอาคารแบบตะวันตกในหยวนหมิงหยวน คิดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องอะไรกันบ้างไม่มากก็น้อย

5. วาดดอกไม้แบบตะวันตก เช่น ดอกเบญจมาศและดอก anemone (คล้ายๆ ดอกดาวเรืองแต่มีหลายสี)
ดอกไม้ฝรั่งบนเครื่องเคลือบจีน

การใช้เทคนิคแสงเงาของตะวันตกในการวาดลวดลายบนเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่นั้นใช้ในทุกๆ จุด โดยการใช้สีขาวจากเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่สร้างแสงเงาให้กับดอกไม้ใบไม้ให้ดูเป็นสามมิติ

เทคนิคแบบตะวันตกอีกอย่างที่ปรากฎบนเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่คือดอกไม้ฝรั่ง ผสานกับการวาดภาพวิวทิวทัศน์ในช่องซึ่งเป็นแบบจีน เป็นการผสมผสานศิลปะของตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ลวดลายดอกไม้ใบไม้นี้อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการตกแต่งขอบชิ้นงานโลหะของฝรั่งหรืออาจจะได้ความบันดาลใจมาจากการตกแต่งแบบตะวันตก ซึ่งคุณป้าเหลียว เป่าโชแกบอกว่านี่แหละคือสิ่งที่ถังอิง เรียกว่า เทคนิคการวาดฟาหลางแบบตะวันตก หรือ การหยิบยืมรูปแบบการตกแต่งแบบตะวันตกมาใช้
ตะวันตกพบตะวันออกนะครับ



คาสจิลิโอเน่พ่อหยางไฉ่ทุกสถาบัน

ตอนที่แล้วพูดถึงลักษณะพิเศษของเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ ว่าใช้เทคนิคการวาดภาพแบบตะวันตกมาใช้ โดยเฉพาะการใช้สีขาวมาสร้างมิติให้กับดอกไม้ใบไม้ เทคนิคนี้ก็ไม่ได้ผุดมาจากกระบอกไม้ไผ่ ราชสำนักชิงจ้างศิลปินชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นพระมิชชันนารีเจซูอิต ชื่อ Giuseppe Castiglione อ่านว่า จุสเซปเป้ คาสจิลิโอเน่ มีชื่อจีนว่า หลาง ซือหนิง

คาสจิลิโอเน่รับราชการมาตั้งแต่สมัยคังซี และเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในความพยายามที่จะใช้ "สีฝรั่ง" มาวาดลวดลายบนเครื่องกระเบื้องจีน จนเกิดเป็นเครื่องกระเบื้อง "ฟาหลางไฉ่" พอถึงสมัยเฉียนหลงพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการใช้เทคนิคการวาดภาพให้เป็น 3 มิติ มาใช้ในการวาดลวดลายเครื่องกระเบื้องจีนด้วย


ภาพที่เอามาประกอบนี้คาสจิลิโอเน่ วาดใน ค.. 1727 ตรงกับปีที่ 5 ในรัชศกหย่งเจิ้ง โดยคาสจิลิโอเน่วาดภาพนี้ที่หยวนหมิงหยวน กลีบดอกโบตั๋นวาดด้วยสีแดง ไล่เฉดเพื่อให้ดูมีมวล ใช้สีขาวสร้างมิติของแสงตกกระทบ ก้านและใบก็ใช้เทคนิดไล่เฉดให้ดูเป็น 3 มิติ ในส่วนแจกันนั้นเป็นแจกันลายครามวาดรูปดอกผักบุ้ง เป็นของสมัยหมิง รัชศกซวนเต๋อ คาสจิลิโอเน่ใช้เทคนิคพิเศษในการวาดเพื่อให้เห็นความวาวของน้ำเคลือบโดยการลดความเข้มของลายครามลง เพิ่มเส้นสีขาวเพื่อขับเน้นให้เห็นรายละเอียดของแสงสะท้อนจากน้ำเคลือบ (ลองนึกภาพเรามองแจกันลายครามที่สะท้อนแสงเราจะเห็นว่าผิวของแจกันจะออกขาวๆ วาวๆ)

โดยรวมแล้วพูดได้เลยว่าเสน่ห์ของภาพนี้คือความพยายามสร้างมิติของแสงและเงาให้ปรากฎในภาพวาดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เดาได้เลยว่าศิลปินจีนที่วาดภาพบนเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่นี่ต้องไปเข้าคอสเรียนเทคนิคการวาดภาพแสงเงาจากคาสจิลิโอเน่มาอย่างแน่นอน


ลวดลาย "ดอกไม้ผ้าปัก" (錦上添花 ) บนเครื่องเคลือบหยางไฉ่

ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องของหลวง ถังอิง มีหน้าที่ที่จะต้องสนองนี๊ดของเฉียนหลง ซึ่งมีมาตรฐานทางศิลปะที่สูงมากกก เพื่อการนี้ถังอิง จะต้องคิดค้นเทคนิควิธีใหม่ๆ ในการรังสรรค์เครื่องกระเบื้องที่วิจิตรพิสดารที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถังอิงได้ใช้เทคนิคลายดอกไม้ผ้าปัก ซึ่งคิดค้นขึ้นมาใช้กับเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ในราวๆ ปีที่ 5 หรือ 6 ในรัชศกเฉียนหลง อย่างที่เคยบอกไว้ตั้งๆ แต่ต้นๆ แล้วว่าเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่นั่น ทำที่กองช่างศิลป์หลวงที่ในวังต้องห้าม ปักกิ่ง ในขณะที่ถังอิง อยู่ที่จิ๋งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี

ลายดอกไม้ผ้าปักนี้คือการทำลวดลายพื้นบนเครื่องกระเบื้อง ทั้งการขูดลงไปบนเนื้อกระเบื้องและการวาดด้วยสี ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยทำเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ ตั้งแต่ปีที่ 6 ในรัชศกเฉียนหลง การทำลวดลายพื้นนี่ทำมาก่อนรัชศกเฉียนหลงแล้ว แต่ลวดลายตกแต่งจะวาดโดยการตัดเส้นด้วยสีดำหรือเทคนิคที่เรียกว่า วูไฉ่ (ตัดเส้นด้วยสีครามเรียก โต้วไฉ่)

ถึงแม้ว่าถังอิงจะใช้เทคนิค ลายดอกไม้ผ้าปักกับเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่ แต่ก็ได้ยักเยื้องให้มีความแตกต่างไปจากเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ คือ ลายขูดรูปใบเฟิร์น นอกจากลายขูดใบเฟิร์นแล้ว ยังมีลายขูดรูปสวัสดิกะด้วยในขณะที่ลายดอกบัวอินเดีย (ใช้มาตั้งแต่เครื่องลายครามสมัย ราขวงศ์หยวน-หมิง) และลายอื่นๆ ที่พบวาดบนเครื่องกระเบื้องฟาหลางไฉ่ก็ไม่พบใช้ในเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่เลย




ลวดลายดอกไม้ผ้าปักที่ใช้ในรัชศกเฉียนหลงมี 2 รูปแบบ คือ ขูดลวดลายลงไปในเนื้อกระเบื้อง และวาดลงไปบนผิวเครื่องกระเบื้องให้นูนขึ้นมา ทั้งสองรูปแบบทำซะละเอียดยิบเลยทีเดียว แค่นี้ยังไม่สะใจเฉียนหลง แกยังสั่งให้ทำเนื้อกระเบื้องให้บางลงอีก บอกไม่บอกปล่าวสั่งให้กองช่างศิลป์หลวงในวังให้กลึงไม้เป็นตัวอย่างไปด้วยว่าจะเอาบางเท่านี้ และนี่ก็เป็นหลักฐานอีกอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจักรพรรดิเฉียนหลงเอาใจใส่ในการผลิตเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่มากแค่ไหน



สรุปความเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่คืออะไร

ก่อนจะสรุปว่าหยางไฉ่คืออะไร มาดูกันก่อนว่ากว่าจะมาเป็นอย่างไฉ่นี่จีนมีวิวัฒนาการเรื่องการเขียนลวดลายบนเครื่องกระเบื้องกันมายังไงนะครับ ความพยายามที่จะทำลวดลายด้วยสีต่างๆ บนเครื่องเคลือบจีนนั้นพยายามทำกันมานานแล้วครับ แต่ไม่สามารถจะควบคุมสีให้อยู่ในรูปทรงที่ต้องการได้ ดูอย่างเครื่องเคลือบซาไฉ่ สมัยถัง เรียกได้ว่าเอาสีสาดๆ ป้ายๆ ไปบนเครื่องเคลือบ สีก็หยดลงเป็นทางไหลย้อยลงมา ในเมื่อควบคุมสีไม่ได้ ก็พยายามทำเครื่องกระเบื้องให้มีขอบขึ้นมา จะได้กักสีไว้ในกรอบลวดลายที่ทำไว้

จนมาพบว่าโคบอลต์ที่เอามาจากตะวันออกกลางนั้นสามารถเขียนเป็นลวดลายละเอียดได้ เผาออกมาเป็นสีครามสวยงาม การเขียนครามนี้ทำมาได้ตั้งแต่ปลายราชวงศ์หยวน และมารุ่งเรื่องมากๆ สมัยหมิง แต่ความพยายามจะเขียนภาพด้วยสีสันต่างๆ ก็ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น นอกจากสีครามแล้ว ยังใช้สีแดงที่ได้จากธาตุทองแดง มาเขียนเป็นลวดลายต่างๆ ได้อีกด้วย สีที่ได้ออกส้มๆ แดงๆ เรียกครามไฟ พอถึงสมัยหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิงได้ค้นพบการใช้สีเหลือง เขียว และสีน้ำตามอมม่วง (ซึ่งเป็นสีพิเศษที่คิดขึ้นได้ในสมัยเฉิงฮวา) รวมกับสีครามและสีแดงที่มีอยู่แล้ว เอามาวาดลวดลายเป็นสีสันต่างๆ บนเครื่องกระเบื้อง ได้ลวดลายที่มีความละเอียดพอควร เทคนิคนี้มาทำสำเร็จได้สีสันที่สดใสในสมัยเฉิงฮวาเรียกเทคนิคนี้ว่า โต้วไฉ่

มาถึงราชวงศ์ชิงจักรพรรดิคังซีนิยมคบค้ากับฝรั่ง รับบาทหลวงฝรั่งที่มีความรู้ในวิทยาการต่างๆ เข้ามาในวังเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบาทหลวงชาวอิตาเลียนที่เป็นจิตรกรชื่อจุสเซปเป้ คาสจิลิโอเน่ ในสมัยคังซีนี้เองได้มีความพยายามประยุกต์ใช้เทคนิคการทำสีเครื่องแก้วที่พัฒนาขึ้นในโลกตะวันตกมาใช้กับเครื่องเคลือบจีนจนประสบความสำเร็จ ได้สีสันมากมายเอามาวาดบนเครื่องกระเบื้องจีน และด้วยความที่เป็นเทคนิคที่ได้มาจากตะวันตกจึงเรียกเทคนิคนี้ว่า ฟาหลางไฉ่

และนับจากสมัยคังซีมาจนถึงหย่งเจิ้ง ช่างวาดภาพบนเครื่องกระเบื้องจีนได้จัดตั้งเป็น กองสีฟาหลาง ขึ้นใน สำนักช่างศิลป์หลวง ในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง โดยรับเครื่องกระเบื้องเปล่ามาจากจิ๋งเต๋อเจิ้น เอามาเขียนสีในวังที่ปักกิ่ง เนื่องจากสีฟาหลางนั้นเผาอุณหภูมิต่ำ สามารถที่จะตั้งเตาเผาเสร็จสรรพกันในวังนั่นเอง ผลิตเครื่องกระเบื้องเขียนสีสันสวยงามมากมายขึ้นในวัง

พอมาถึงสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง แกเป็นคนที่หลงไหลในศิลปะเป็นอย่างมาก ในสมัยนี้ได้สำรวจทรัพย์สินมีค่าที่สะสมกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นอย่างน้อย ทำบัญชีพร้อมภาพวาดประกอบ ชิ้นไหนถูกใจพี่เฉียนหลงพ่อทุกสถาบันก็จะให้จารบทกลอนที่แกแต่งเกี่ยวกับศิลปะวัตถุชิ้นนั้นลงไปบนชิ้นงานนั้นๆ ด้วย ผมเดาเอาว่าเมื่อเฉียนหลงพินิจเครื่องกระเบื้องในกรุของราชวงศ์ชิงที่สะสมมาหลายราชวงศ์ ในกระบวนการเครื่องกระเบื้องแล้ว เฉียนหลงแกก็คงจะรู้สึกว่า ถ้าถังมี ซาไฉ่ จักรพรรดิฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือมี เครื่องเคลือบหลู สมัยซ่งใต้มี กวน เกอ สมัยหมิงมี ลายคราม จักรพรรดิเฉิงฮวามี โต้วไฉ่ สมัยคังซีผู้ปู่มี ฟาหลางไฉ่ ในสมัยแกก็จะต้องมีเครื่องกระเบื้องชนิดพิเศษขึ้นมาอีก ๑ อย่าง เพื่อเป็นเลคกาซี่ตกทอดสืบไป คิดได้ดังนี้แกก็สั่งให้ถังอิง ผู้ควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องของหลวงคิดรังสรรค์เทคนิคพิเศษใหม่ๆ ขึ้นมาให้จงได้




ในกระบวนการเรื่องสีก็จบถ้วนทุกกระบวนความแล้ว จะเอาอะไรมาใหม่ได้อีก ในเมื่อใช้สีใหม่ไม่ได้ ถังอิง เลยหยิบยืมเอาเทคนิคในการวาดรูปของตะวันตกมาใช้ นั่นคือการเขียนภาพให้มีลักษณะ 3 มิติ ที่สำคัญคือการใช้สีขาวเพื่อสร้างมิติของภาพ เท่านั้นยังไม่พอยังได้ใช้ลวดลายดอกไม้ใบไม้ตลอดจนการผูกลายแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ในเครื่องกระเบื้องจีน และเรียกเครื่องกระเบื้องที่เขียนด้วยเทคนิคนี้ว่า "หยางไฉ่" เป็นของที่คิดขึ้นใหม่ในรัชกาลเฉียนหลง






เท่านั้นยังไม่สาแก่ใจเฉียนหลง ถังอิงได้คิดค้นเครื่องกระเบื้องที่สามารถหมุนได้ โดยการเผาแยกส่วนแล้วเอามาประกอบกันทีหลัง กลายเป็นของวิเศษแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จบถ้วนกระบวนความเครื่องกระเบื้องหยางไฉ่แต่เพียงเท่านี้ครับ

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม