แดงฉ่ำล้ำค่า บูชาฟ้าเกียรติเกริกไกร



เครื่องเคลือบสีแดงที่ในบ้านเราเรียกว่าแดงเลือดวัว เลือดนกนั้นเป็นเครื่องเคลือบที่มีความ "พิเศษ" และมีความ "วิเศษ" เป็นเอกของน้ำเคลือบชนิดหนึ่งของเครื่องกระเบื้องจีนเลยทีเดียวครับ ทำไมเครื่องกระเบื้องชนิดนี้จึงพิเศษและวิเศษได้ถึงขนาดนี้ ทั้งนี้เพราะเกิดจากกระบวนการผลิตที่แสนจะยากเย็น โดยเริ่มมีการทดลองทำเครื่องกระเบื้องสีแดงมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์หยวนต่อเนื่องมาจนถึงราชวงศ์หมิง แต่ก็ไม่สามารถทำเครื่องกระเบื้องสีแดงสดได้ จนมาเมื่อผลิตได้ครั้งแรกในสมัยรัชศกซวนเต๋อ (.1426-1435) ราชวงศ์หมิง ถือเป็นของวิเศษที่คู่ควรกับการใช้ในวัง ไม่เพียงเท่านั้นยังสงวนไว้ใช้สำหรับในพิธีกรมเซ่นสรวงบูชาของราชสำนักด้วย และด้วยเหตุนี้สูตรการทำเครื่องกระเบื้องชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นความลับ และได้หายสาบสูญไปในรัชศกซวนเต๋อนี้เอง เครืื่องเคลือบสีแดงสดที่ทำได้ในรัชศกซวนเต๋อนี้จึงกลายเป็นตำนานความลี้ลับในหน้าประวัติศาสตร์จีนนับแต่นั้นมา 
 
ด้วยความพิเศษและวิเศษของเครื่องเคลือบสีแดงนี้เมื่อจักรพรรดิคังซี (.. 1662 - 1723) แห่งราชวงศ์ชิงจะทำพิธีฉลองแซยิด จึงได้มีบัญชาให้หลางถิงจี๋ ไปศึกษาและทำเครื่องกระเบื้องสีแดงนี้ขึ้นมาให้จงได้อีกครั้งหนึ่ง หลางถิงจี๋ได้ใช้เวลาศึกษาสูตรน้ำเคลือบสีแดงนี้ที่จิ๋งเต๋อเจิ้น ใช้เวลาอยู่หลายปีจึงค้นพบสูตรน้ำเคลือบที่หายสาบสูญไปอีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้นหลางถิงจี๋ยังได้พัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ของเครื่องเคลือบสีแดงให้มีความหลากหลายขึ้น เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นได้ในสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องเคลือบสีแดงจึงได้ผงาดขึ้นมาครองความโดดเด่นไม่แพ้เครื่องเคลือบชนิดอื่นๆ ของจีน แม้แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและกระบวนการเผาเครื่องกระเบื้องจะพัฒนาไปมาก และเรียกว่าสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการเผาได้อย่างแม่นยำ แต่การเผาเครื่องกระเบื้องสีแดงตามสูตรโบราณนี้ก็ยังมีความยากลำบากที่จะประสบความสำเร็จ 100 % ในการเผาครั้งหนึ่งๆ จึงทำให้เครื่องกระเบื้องสีแดงยังคงมีความพิเศษและวิเศษมาตราบจนถึงปัจจุบัน



ทำไมต้องเป็นสีแดงจากทองแดง

เครื่องเคลือบจุน ของทำในสมัยราชวงศ์หยวน ใช้ทองแดงทำให้เกิดลวดลายสีม่วง ภาพจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน

เครื่องเคลือบหลงฉวน มีจุดสีน้ำตาล ซึ่งเกิดจากการใช้ทองแดง ของทำในสมัยราชวงศ์หมิง ภาพของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน

เคล็ดลับของการทำเครื่องเคลือบสีแดงคือสารประกอบทองแดง ที่ทำให้เกิดสีแดงในเนื้อน้ำเคลือบซึ่งฝรั่งเรียกสีแดงนี้ว่า copper red คือสีแดงที่เกิดจากทองแดง และการเอาทองแดงมาวาดให้เป็นลวดลายบนเครื่องเคลือบนี่เป็นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาในสมัยปลายราชวงศ์หยวนต่อต้นราชวงศ์หมิงครับ เล่ากันว่าที่ต้องเอาสารประกอบทองแดงมาเขียนลายนั้นเนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในช่วงศึกสงคราม น่าจะช่วงเปลี่ยนราชวงศ์หยวนมาเป็นหมิง ทำให้การอิมพอร์ตโคบอลต์จากตะวันออกกลางเพื่อเอามาเขียนลายครามนั้นขาดช่วงลง เลยต้องเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้เขียนลายมาเป็นทองแดงแทนครับ

ซึ่งจริงๆ แล้วการใช้สารประกอบทองแดงให้เกิดสีในเครื่องเคลือบนั้นจีนทำมาตั้งแต่สมัยฮั่นแล้วครับ แล้วสารประกอบทองแดงก็ไม่ได้ให้สีแดงอย่างเดียว ทองแดงให้สีเขียวมรกต สีฟ้าเทอควอยส์ (เมื่อเผาแบบมีอ็อกซิเจน) สีแดงสด (เมื่อเผาอุณหภูมิสูงและจำกัดปริมาณอ็อกซิเจน) ทองแดงเป็นที่สองรองจากเหล็กที่ใช้เป็นสารให้สีของเครื่องเคลือบจีน สิ่งที่ทำให้ทองแดงแตกต่างจากเหล็กคือการที่ช่างทำเครื่องเคลือบใช้ทองแดงผสมในสูตรน้ำเคลือบเพื่อให้เป็น ตัวสร้างสี แต่เหล็กจะอยู่ในเนื้อดินและมีปริมาณสูงพอที่จะทำให้เกิดสีโดยไม่ต้องพึ่งสีจากน้ำเคลือบ ที่เราเห็นเครื่องดินเผามีสีแดงๆ นั่นก็เพราะในดินมีธาตุเหล็กอยู่สูงนั่นเองครับ

ดีบุกและทองแดงมักจะพบเป็นส่วนผสมในน้ำเคลือบสีเขียวสมัยฮั่น สร้างสีสันบนเครื่องเคลือบจุน และใช้ในการทำจุดสีแดงบนเครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์เหลียว และใช้วาดลวดลายหยาบๆ บนเครื่องเคลือบสมัยซ่งและหยวน สมัยราชวงศ์ซ่งใช้แต้มแต่งสีแดงเป็นจุดๆ หรือปนกับสีอื่นๆ บ้างก็ใช้กับเครื่องเคลือบหลงฉวน แล้วก็เครื่องเคลือบจากเตาถงกวน ฉางชา แต่ยังไม่สามารถทำสีแดงฉ่ำสวยงามเหมือนในสมัยราชวงศ์หมิงได้

จริงๆ แล้วแร่เหล็กก็ให้สีออกน้ำตาลออกแดงๆ เหมือนกันนะครับ ที่เดาว่าไม่ใช้เหล็กในการให้สีแดงเพราะมันทำให้เป็นสีแดงสดไม่ได้ อีกอย่างส่วนผสมแร่เหล็กเมื่อเผาอุณหภูมิสูงแล้วจะทำให้เกิดผลึกในน้ำเคลือบ ซึ่งทำให้ไม่สวยเลยไม่ใช้เหล็กในการให้สีแดงครับ ผลจากการวิเคราะห์น้ำเคลือบที่มีส่วนผสมของทองแดงพบว่ามีอ็อกไซด์ของดีบุกเจืออยู่ในปริมาณน้อย การมีดีบุกอยู่ในปริมาณน้อยในการเผาแบบมีอ็อกซิเจนจะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แต่ถ้าเผาแบบจำกัดปริมาณอ็อกซิเจนจะทำให้ได้สีแดงสด

การใช้ทองแดงเป็นตัวให้สีแดงในน้ำเคลือบ ปริมาณทองแดงที่ใช้ต้องอยู่ในระดับที่พอดี มากไปสีจะออกดำคล้ำ น้อยไปก็จะสีซีดไม่สวย กว่าจะได้สีแดงสวย สูตรน้ำเคลือบต้องแป๊ะ น้ำเคลือบจะต้องหนา มีองค์ประกอบของสารต่างๆ ในสัดส่วนที่พอดี และเผาในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่เพียงเท่านั้นอุณหภูมิในเตาต้องถึง โดยที่อุณหภูมิสูงกว่าเผาเครื่องเคลือบชนิดอื่นๆ ที่ยากไปกว่านั้นต้องควบคุมปริมาณอ็อกซิเจนในเตาไม่งั้นไม่ได้แดงสวย อัตราการเย็นตัวหลังจากการเผาก็ต้องควบคุมได้อย่างเหมาะสม ด้วยความยุ่งยากนี้เปอร์เซนเผาแล้วไม่ได้แดงสูงมากครับ



"เซียนหง" ล้ำค่าสูงส่งคู่ควรราชวงศ์หมิง


การใช้ทองแดงให้สีแดงในเครื่องเคลือบสมัยหงอู ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ภาพจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน

ถ้วยสีแดงลายนูนมังกร ของทำในสมัยรัชศกหงอู ราชวงศ์หมิง ภาพผมถ่ายที่พิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน



ว่าด้วยกระบวนการพัฒนาเครื่องเคลือบสีแดงในสมัยราชวงศ์หมิง ข้อมูลในส่วนนี้ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำเคลือบจากเศษชิ้นกระเบื้องที่ขุดได้จากเตาหลวงสมัยราชวงศ์หมิงที่จิ๋งเต๋อเจิ้น เพราะอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่าสูตรน้ำเคลือบสีแดงสดนี้ได้หายสาบสูญไปตั้งแต่รัชศกซวนเต๋อแล้ว จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของการทำเครื่องเคลือบสีแดงนี้ทำมาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์หยวน (.. 1279-1368) และทำต่อเนื่องในสมัยจักรพรรดิหงวู (.. 1368-1398) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง แต่สีแดงที่ได้จะออกสีแดงอมส้ม หรือแดงอมชมพูตุ่นๆ ซึ่งเกิดจากการใส่สารประกอบทองแดงมากเกินไป

ถ้วยชามีเชิงสูงเคลือบสีแดง ของทำในสมัยรัชศกหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิง ภาพจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน


ต่อมาในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (.. 1403-1424) ได้มีการปรับปรุงสูตรน้ำเคลือบโดยประการแรกเพิ่มสารประกอบแคลเซียมทำให้น้ำเคลือบมีคุณสมบัติที่จะปล่อยให้ฟองอากาศที่ถูกกักอยู่ภายในออกมาได้ในขณะเผาและละลายส่วนผสมบางอย่างในน้ำเคลือบซึ่งปฏิกิริยาทั้งสองแบบนี้ทำให้เกิดสีแดงสด
ประการที่สองลดสารประกอบทองแดงลงทำให้ได้สีแดงที่สดขึ้น
ประการสุดท้ายเปลี่ยนสารประกอบทองแดงที่ใช้จาก copper metal มาเป็น oxidised bronze

ที่หยดน้ำลงบนจานฝนหมึก เคลือบสีแดงของทำในสมัยรัชศกซวนเต๋อ ราชวงศ์หมิง ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน

เหยือกน้ำเคลือบสีแดง ของทำในรัชศกซวนเต๋อ ราชวงศ์หมิง ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน

เครื่องเคลือบสีแดงมาถึงจุดสูงสุดในสมัยจักรพรรดิซวนเต๋อ (.1426-1435) จากการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำเคลือบสีแดงที่ทำในรัชกาลนี้พบว่ามี Potassium oxide มากกว่าปกติ และสารประกอบทองแดงที่ใช้ระเหยออกไปถึงครึ่งหนึ่งในขณะเผา ประมาณได้ว่าสารประกอบทองแดงที่ใช้ในการให้สีแดงมีสัดส่วนเพียง 0.4 และ 0.6 % ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าเผาที่อุณหภูมิสูงถึงกว่า 1300 องศาเซลเซียส (เครื่องลายครามเผาที่อุณหภูมิ 1250-1280 องศาเซลเซียส)
ด้วยความพิเศษต่างๆ ของเครื่องเคลือบสีแดงที่ทำในสมัยจักรพรรดิซวนเต๋อแห่งราชวงศ์หมิงนี้มีความสวยงามเลิศล้ำเป็นที่สุดของที่สุด และเครื่องเคลือบสีแดงสดได้รับการขนามนามว่า "เซียนหง" แปลเป็นไทยว่าแดงสดครับ รวมสิริเวลาที่ใช้ในการพัฒนาเครื่องเคลือบสีแดงมาจนถึงจุดสูงสุดนี่ 156 ปีเลยทีเดียวนะครับ


"จี้หง" เกียรติภูมิแห่งราชวงศ์ชิง


เครื่องกระเบื้องเคลือบสีแดง ทำในสมัยรัชศกคังซี ราชวงศ์ชิง ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน

อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่าสูตรน้ำเคลือบของเครื่องเคลือบสีแดงนั้นได้หายสาบสูญไปในรัชศกซวนเต๋อแล้ว เมื่อจักรพรรดิคังซีต้องการจะทำเครื่องเคลือบสีแดงนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจึงเรียกได้ว่าเริ่มนับหนึ่งใหม่กันเลยทีเดียว จากหนังสือของคุณไนเจล วู๊ด บอกว่ามีเอกสารสองชิ้นที่ได้บันทึกการทำสีแดงจากทองแดงของเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ชิงคือ

เอกสารชิ้นแรกบันทึกโดย Pere d'Entrecolles (.. 1722) อธิบายการทำสีแดงไว้ว่า ทำโดยการให้ความร้อนโลหะทองแดงจนเกือบถึงจุดหลอมละลายแล้วราดน้ำลงไป จากนั้นจึงแยกเอาสะเก็ดสนิมทองแดง (copper oxides) ออกมา พอเย็นลงก็เอามาบดให้เป็นผง ผสมกับหินสีแดงซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นหินอะไร ยูรีน (urine) เดาว่าน่าจะเป็นฉี่ หาง่ายสุดละ แล้วก็น้ำเคลือบ สูตรนี้ใช้คำเครื่องเคลือบสีแดงในสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง

เอกสารชิ้นที่สองบันทึกโดย Georges Vogt ผู้จัดการด้านเทคนิคโรงงานแซฟร์ (Sevres) ของฝรั่งเศส เอกสารชิ้นนี้ระบุว่านาย F. Scherzer กงศุลฝรั่งเศส ได้นำเอาผงสีแดงมาจากจิ๋งเต๋อเจิ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.. 1882 ซึ่งผงสีแดงนี้เป็นส่วนผสมของสนิมทองแดงกับสารประกอบแร่เหล็กซึ่งอาจจะเป็นหินแก้วสีแดงบดละเอียด (siliceous red clay) ในอัตราส่วนที่เท่ากัน

จานเคลือบสีแดงของทำในรัชศกเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง

สูตรน้ำเคลือบทั้งสองชนิดนี้น่าจะเป็นผลงานการค้นคว้าวิจัยของหลางถิงจี๋ คนที่จักรพรรดิคังซีส่งให้มาทำเครื่องเคลือบสีแดงที่จิ๋งเต๋อเจิ้น หล่างถิงจี๋ มาดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ๋งเต๋อเจิ้น ระหว่างปี ค.. 1705 - 1712 สำหรับการจำแนกเครื่องกระเบื้องสีแดงที่ทำขึ้นในสมัยต่างๆ นี่เครื่องกระเบื้องสีแดงที่ทำในสมัยหมิง เรียกว่า "เซียนหง" และเครื่องกระเบื้องสีแดงสมัยชิงที่ทำเลียนแบบสมัยหมิงฝีมือหล่างถิงจี๋นี้เรียกว่า จี้หง ซึ่งคุณไนเจลอธิบายว่ามันคือ sacrificial red หรือ เครื่องกระเบื้องสีแดงที่ใช้ในการเซ่นสรวงบูชา) แต่ยังเขียนตราประทับเลียนแบบสมัยซวนเต๋อ และยิ่งไปกว่านั้นหล่างถิงจี๋ยังได้ทดลองพัฒนาน้ำเคลือบให้มีความสดใสขึ้นอีก มีน้ำเคลือบที่หนากว่า แดงกว่า แวววาวกว่าเครื่องกระเบื้องสีแดงที่ทำสมัยหมิง ซึ่งในเวลาต่อมาน้ำเคลือบสีแดงสดใสนี้จะเรียกว่า เครื่องกระเบื้องเคลือบสีแดง "หลางเหยา" ("หลาง" มาจากชื่อของ หลางถิงจี๋ "เหยา" น่าจะแปลว่าเตาเผารึเครื่องเคลือบ รวมๆ แล้วก็น่าจะประมาณว่าเครื่องเคลือบที่มาจากเตาของหล่างถิงจี๋อะไรประมาณนั้น)

การที่สามารถทำเครื่องกระเบื้องเคลือบสีแดงขึ้นมาได้อีกครั้งในสมัยราชวงศ์ชิงนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในวงการเครื่องเคลือบ และทำได้ดีทัดเทียมหรือดีกว่าสมัยหมิงด้วย เพราะสมัยชิงได้เพิ่มเทคนิคใหม่ด้วยการเป่าน้ำเคลือบทำให้สีที่ได้เป็นสีแดงเรื่อๆ คล้ายๆ ลูกท้อ หรือทำให้น้ำเคลือบสีแดงมีมิติ ปนขาวปนเขียว สวยงามไปอีกแบบ

"เจียงโต้วหง" นวตกรรมน้ำเคลือบแดงสมัยชิง


เครื่องกระเบื้องเคลือบเจียงโต้วหง จุดสีเขียวเกิดจากการทำปฏิกิริยากับอากาศของทองแดง ทำให้เกิดจุดเขียวขึ้นบนน้ำเคลือบ ของทำในรัชศกคังซี ภาพจาก Sotheby

เครื่องเคลือบเจียงโต้วหงใช้เทคนิคเป่าน้ำเคลือบลงบนผิวภาชนะ ทำให้เกิดสีแดงที่ไม่สม่ำเสมอตามปริมาณน้ำเคลือบบนผิวภาชนะที่ไม่เท่ากัน เกิดเป็นรูปแบบที่สวยงาม

เครื่องเคลือบพื้นสีแดงหรือสีแดงเรื่อๆ มีจุดสีเขียวนี้เกิดจากสารประกอบทองแดง (ในช่วงแรกๆ จะใช้สารประกอบทองแดง copper-lime แต่เมื่อพัฒนาไปช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิงจะใช้สารประกอบ bronze-lime) ที่เป่าผ่านท่อไม้ไผ่ลงไปบนผิวที่เคลือบน้ำเคลือบใสไว้ชั้นนึงแล้ว จากนั้นก็เอาไปชุบน้ำเคลือบใสแล้วเผาอีกรอบ ด้วยลักษณะวิธีการทำเช่นนี้ฝรั่งเรียกเทคนิคนี้ว่า "sandwich" คือสารประกอบที่ทำให้เกิดสีแดงจะอยู่ระหว่างน้ำเคลือบสองชั้น ระหว่างขั้นตอนการเผาสารประกอบทองแดงบางส่วนเกิด re-oxidised ทำให้เกิดจุดเขียวๆ อย่างที่เห็นครับ โดยเทคนิคใหม่นี้เรียกว่า เจียงโต้วหง  (豇豆紅釉) แปลตรงตัวคือเครื่องเคลือบสีแดงเม็ดถั่วฝักยาว ซึ่งเม็ดถั่วฝักยาวจะมีลักษณะผิวเป็นสีน้ำตาลลักษณะเดียวกันกับน้ำเคลือบชนิดนี้ครับ

ภาพสาวงามสมัยหย่งเจิ้ง ราชวงศ์ชิง ถือถ้วยชาทรงระฆังเครื่องเคลือบเจียงโต้วหง

แจกันเครื่องกระเบื้องเคลือบเจียงโต้วหง ภาพจาก Sotheby


ข้อมูลจากหนังสือ Chinese Glazes ของคุณ Nigel Wood































ความคิดเห็น