"โต้วไฉ่" นวตกรรมเครื่องเคลือบในสมัยหมิง





"โต้วไฉ่" นวตกรรมเครื่องเคลือบในสมัยหมิง

ว่าจะพูดถึงการเขียนลวดลายบนเครื่องกระเบื้องด้วยสีสันสดใสซึ่งเป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง เทคนิคนี้ฝรั่งเรียกว่าวูไฉ่ ตัวจีนเขียนอย่างนี้ 五彩 วูไฉ่ หลายสี (ห้าสี) แต่พอได้อ่านหนังสือของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันถึงได้รู้ว่าจีนเรียกเทคนิคนี้ว่า 鬥彩 โต้วไฉ่ครับ งั้นก็เรียกโต้วไฉ่ตามจีนละกันนะครับ ข้อมูลในส่วนนี้ได้จากหนังสือ Catalogue of the Special Exhibition of Cheng-Hua Porcelain Ware ของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันครับ
เทคนิคที่เรียกว่าโต้วไฉ่นี่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเคลือบสมัยหมิงเลยครับ หลักๆ แล้วจะใช้สีครามจากโคบอลต์ ซึ่งเผาอุณหภูมิสูง แล้วมาวาดสี เหลือง เขียว ม่วง แดง แล้วเอาไปเผาอุณหภูมิต่ำอีกที งานโต้วไฉ่สมัยหมิงนี่ถึงจุดสูงสุดในสมัยจักรพรรดิเฉิงฮวา (.. 1465 - 1487) ทั้งสีสันที่สดใสและสีครามที่อ่อนลงกว่าในสมัยก่อนหน้า (จักรพรรดิซวนเต๋อ ครามในสมัยนี้สีคล้ำและหนา)


ตั้งแต่ยุคจักรพรรดิเฉิงฮวาเป็นต้นมา ลักษณะครามเลอะๆ ช้ำๆ ของต้นสมัยหมิงก็เริ่มหายไปครับ และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องเคลือบโต้วไฉ่เกิดขึ้นก็เป็นได้นะครับ เพราะเครื่องเคลือบโต้วไฉ่ใช้ครามตัดเส้น ถ้าครามที่ใช้ตัดเส้นรูปที่วาดเลอะๆ ช้ำๆ คงจะดูไม่จืด

ลักษณะครามช้ำในสมัยซวนเต๋อนะครับ ที่เป็นแบบนี้เพราะโคบอลต์วัตถุดิบที่เอามาทำสีครามในช่วงเวลานี้แข็งมาก บดได้ไม่ละเอียด พอเอามาวาดและเผาแล้วส่วนที่บดไม่ละเอียดก็จะมีสีเข้ม เลยกลายเป็นเข้มเป็นจ้ำๆ เป็นจุดๆ ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ของลายครามต้นสมัยหมิงไปครับ





ในหนังสือบอกว่าจากเอกสารโบราณ มีคำหลายคำที่ใช้เรียกเครื่องเคลือบสมัยหมิงที่ใช้สีครามตัดเส้น แต่ละคำมีความหมายที่แตกต่างกันดังนี้

鬥彩 โต้วไฉ่ คือเครื่องเคลือบที่วาดเส้นขอบของภาพด้วยสีครามบนเนื้อกระเบื้อง จากนั้นเอาไปชุบน้ำเคลือบ เผา จากนั้นก็เอามาวาดสีอื่นๆ ที่เหลือ แล้วเอาไปเผาอีกรอบ

鬥彩 โต้วไฉ่


填彩 เถียนไฉ่ เติมสี ทำลักษณะเดียวกับ โต้วไฉ่ แต่ทั้งชิ้นงานมีแต่การตัดเส้นขอบสีคราม รูปที่เอามาประกอบนี่  อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ พลิกดูทั้งเล่มไม่มีเขียนกำกับไว้เลย เดาเอาว่าน่าจะประมาณนี้

填彩 เถียนไฉ่


點彩 เตี๋ยนไฉ่ จุดสี คือเครื่องเคลือบที่วาดเส้นขอบของภาพด้วยสีครามบนเนื้อกระเบื้อง จากนั้นเอาไปชุบน้ำเคลือบ เผา จากนั้นก็เอามาแต้มจุดสีเพื่อขับเน้นลวดลาย โดยที่สีครามเด่นกว่าสีอื่นๆ ทั้งหมด  นี่ถ้าไม่มีใครบอกนึกว่าสีตกเพราะโดนแดดเผานะครัชชชชช

點彩 เตี๋ยนไฉ่

點彩 เตี๋ยนไฉ่


五彩 วูไฉ่ หลายสี (ห้าสี) คำนี้เค้าว่าในปัจจุบันใช้ต่างกับในอดีต ในอดีตจะเรียกเครื่องกระเบื้องเขียนสีทั้งหมดว่า วูไฉ่ ซึ่งรวมทั้ง โต้วไฉ่ ด้วย แต่ในปัจจุบันจะใช้หมายถึงเฉพาะเครื่องเคลือบเขียนสีที่ตัดเส้นด้วยสีดำ (แทนที่จะเป็นสีคราม) และถึงแม้ว่าจะไม่มีสีครามในชิ้นงานนั้นเลยก็เรียกวูไฉ่
ในหนังสือเล่มนี้เค้าเลยตัดปัญหาเรียกเครื่องกระเบื้องทั้งหมดว่า โต้วไฉ่ เพื่อป้องกันความสับสนครับ

ภาพประกอบในส่วนนี้จากหนังสือ Catalogue of the Special Exhibition of Cheng-Hua Porcelain Ware ของพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันครับ หารูปจากเนทไม่ได้เลยต้องสแกนเอาจากหนังสือภาพอาจจะไม่คมชัดหน่อยนะครับ

ดูข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันไปแล้ว มาดูข้อมูลจากหนังสือ Chinese Glazes ของคุณ Nigel Wood เจ้าเดิมกันบ้างนะครับ อย่างที่เคยพูดไปแล้วว่าการศึกษาเครื่องกระเบื้องโบราณนี่ถ้าไม่ค้นพบเตาเผาแหล่งผลิตแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะศึกษาพัฒนาการและองค์ประกอบของน้ำเคลือบ ตลอดจนเทคนิคในการผลิต เครื่องเคลือบดังๆ ของจีนที่เป็นปริศนามานานว่าส่วนผสมน้ำเคลือบเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่นเครื่องเคลือบหลู สมัยซ่งเหนือ และถ้วยเถียนมู่ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งเตาเผาก็เป็นไปได้ยากมากที่จะรู้เทคนิคเคล็ดลับต่างๆ ในกระบวนการผลิต

ทำไมเป็นอย่างนั้น เครื่องกระเบื้องที่สมบูรณ์ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ คงไม่มีใครคิดจะเอามากระเทาะดูเพื่อศึกษากันหรอกนะครับ ของมันแพงมากกกก แถมหายากและมีจำนวนน้อย การค้นพบเตาเผามีความสำคัญมากเพราะจะทำให้เจอเศษแตกๆ ของเครื่องเคลือบที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องสำหรับส่งเข้าวังนั้น สมมุติว่าผลิตมาได้ 10 ชิ้น ชิ้นที่ผ่านการ QC อาจจะเหลือแค่ 3 อีก 7 ชิ้นทุบทิ้ง เพราะฉะนั้นที่แหล่งผลิตจะมีเศษกระเบื้องกองโตมโหฬารมาก เอาไว้ศึกษาได้ชั่วลูกชั่วหลาน 
 
เครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่นี่ก็เหมือนกันครับ การพบเตาหลวงแหล่งผลิตที่จิ๋งเต๋อเจิ้น ก็ทำให้การศึกษาเครื่องเคลือบโต้วไฉ่เป็นไปได้ แหล่งผลิตก็ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลอยู่ใต้ถนน Zhushan ถนนสายหลักของเมืองนั่นเองครับ การค้นพบแหล่งเตาเผานี้ทำให้สามารถศึกษาพัฒนาการของเครื่องเคลือบในยุคแรกสมัยหมิงได้ครับ

จากการศึกษาวิเคราะห์เศษเครื่องกระเบื้องพบว่าเครื่องเคลือบของหลวงในสมัยหย่งเล่อ (.. 1402-1425) นั้นมีลักษณะเรียบๆ ไม่ค่อยมีการตกแต่งพิศดารอะไรมากนัก เมื่อเทียบกับเครื่องเคลือบที่ผลิตในสมัยราชวงศ์หยวนและในสมัยหงอู ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ที่วิจิตรพิศดารเพราะได้รับอิทธิพลจากเอเชียตะวันตก

เครื่องลายครามสมัยราชวงศ์หยวน ได้รับอิทธิพลการเขียนลวดลายจากเอเชียตะวันตก


อย่างไรก็ตามเครื่องเคลือบที่ผลิตในสมัยหย่งเล่อที่ค้นพบจากแหล่งขุดค้นที่อื่นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเครื่องเคลือบลายคราม แต่ที่แหล่งขุดค้นถนน Zhushan นั้น 95% เป็นเครื่องเคลือบสีขาวที่ไม่มีการตกแต่งอะไรมากมาย ซึ่งตรงนี้ก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นพระราชนิยมของหย่งเล่อ เครื่องเคลือบที่เขียนสีบนเคลือบก็มีอยู่บ้างแต่มีจำนวนน้อยมาก และที่มีน้อยนี่ก็มีเหตุผลนะครับ คือมันอยู่ในระยะแรกของการเริ่มทดลองวาดลวดลายด้วยสีอื่นที่ไม่ใช่ครามจากโคบอลต์ และสีแดงจากทองแดง

เครื่องกระเบื้องสีขาวสมัยหย่งเล่อ ตกแต่งด้วยการจารลวดลายและตัวอักษรสันสกฤตลงไปบนเนื้อกระเบื้อง

เครื่องเคลือบที่เขียนสี "บนเคลือบ" ในสมัยหย่งเล่อนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสีแดงจากแร่เหล็ก (iron-red) เพราะสีแดงที่ได้จากแร่ทองแดง (copper-red) ซึ่งใช้เขียนลายใต้เคลือบมาก่อนนั้นใช้เขียนบนเคลือบได้ไม่ดี เพราะเมื่อเขียนบนเคลือบ สีแดงจะกระจายฟุ้งออกไปในระหว่างเผา ทำให้ควบคุมลวดลายไม่ได้
นอกจากนี้ที่แหล่งเตาเผาใต้ถนน Zhushan ยังพบเครื่องเคลือบเขียนสีเขียว แดง และสีน้ำตาล (เผาด้วยอุณหภูมิสูง)ในปริมาณที่น้อยมาก สีเขียวบนเคลือบ สีเหลืองก็มีแต่ใช้เขียนบนเนื้อกระเบื้องก่อนเคลือบเท่านั้น

สีแดงจากแร่เหล็ก (iron-red) เป็นสีที่มีลักษณะกึ่งทึบแสง เมื่อวาดลงไปบนเนื้อกระเบื้องเคลือบสีขาวแล้วก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนสีเหลืองและเขียวนั้นมีลักษณะโปร่งแสง เมื่อวาดลงไปบนเนื้อกระเบื้องเคลือบสีขาวแล้วก็แทบจะไม่เห็นอะไร (สีเหลืองนี่ที่แหล่งผลิตเตาจีโจวก็ใช้มาแล้วนะครับ แต่เนื่องจากเครืองเคลือบจี้โจวพื้นเป็นสีดำ แล้วสีเหลืองที่ใช้ก็ข้นมากเลยไม่มีปัญหา)

แต่เครื่องกระเบื้องที่ผลิตในสมัยหย่งเล่อนี่เนื้อดินมีความบริสุทธิ์สูงมากทำให้ได้เนื้อกระเบื้องสีขาวจั๊ว แถมน้ำเคลือบก็มีความใสสูงมาก ถ้าจะวาดลวดลายลงไปบนเนื้อกระเบื้องแบบนี้ช่างจะต้องคิดค้นเทคนิคพิเศษเพื่อให้สีที่มีลักษณะโปร่งแสง สามารถวาดเป็นลวดลายได้

วิธีที่ช่างผลิตเครื่องเคลือบในสมัยหย่งเล่อใช้คือ วาดลวดลายโดยการขูดเป็นร่องตื้นๆ ลงไปบนเนื้อเครื่องเคลือบก่อนที่จะเคลือบ เมื่อเคลือบแล้วเอามาระบายสี สีที่มีความโปร่งแสงส่วนหนึ่งก็จะไปรวมกันอยู่ในร่องลวดลายที่ขูดไว้ และมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการได้
ในบางกรณีพบว่ามีการวาดสีลงไปบนเนื้อกระเบื้องก่อนเคลือบเลย ผลดีคือได้สีที่เข้มกว่าวาดหลังเคลือบ แต่ข้อเสียคือสีที่ได้จะคล้ำเพราะเนื้อกระเบื้องก่อนเคลือบจะมีสีขาวน้อยกว่าเนื้อกระเบื้องที่เคลือบแล้ว
นี่คือพัฒนาการก่อนที่จะมาเป็นเครื่องเคลือบโต้วไฉ่ในสมัยซวนเต๋อและทำได้ดีที่สุดในสมัยเฉิงฮว่านะครับ

ภาพประกอบนี่เป็นของที่ Sotheby's เอามาประมูล พยายามหาภาพเครื่องเคลือบที่ใช้เทคนิคขูดลวดลายลงไปบนเนื้อกระเบื้องในสมัยหย่งเล่อยังไม่เจอครับ ถ้าเจอจะเอามาให้ดูกันครับ

มาดูเรื่องพัฒนาการของเครื่องเคลือบโต้วไฉ่กันต่อครับ ระยะเริ่มแรกของการคิดค้นระบายสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีครามและสีแดงลงไปบนเครื่องเคลือบสีขาวในสมัยหย่งเล่อ (..1402-1425) ติดปัญหาที่สีเดียวที่ระบายได้คือสีแดง ซึ่งก็เป็นแดงจากแร่เหล็ก ไม่ใช่แดงจากแร่ทองแดงแบบที่ใช้เขียนใต้เคลือบ ส่วนสีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหลือง เขียว ม่วง มีลักษณะโปร่งแสง วาดลงไปบนพื้นกระเบื้องเนื้อขาวๆ ก็ดูไม่เป็นลวดลายอะไร วิธีแก้ของช่างทำเครื่องเคลือบในสมัยหย่งเล่อคือการขูดลวดลายตื้นๆ ลงบนผิวของเครื่องกระเบื้องก่อนเคลือบ พอเคลือบแล้วเอามาระบายสี สีส่วนหนึ่งก็จะไปรวมกันที่ลายที่ขูดขีดไว้เยอะหน่อย เกิดเป็นลวดลายขึ้นมา

ช่างทำเครื่องกระเบื้องของหลวงก็คงจะหาวิธีว่าจะระบายสีสันสดในเหล่านี้ลงไปบนเครื่องกระเบื้องเนื้อขาวได้อย่างไร ในที่สุดก็ใช้เทคนิคที่มีอยู่เดิมผสมผสานกับเทคนิคที่คิดขึ้นใหม่ครับ สีครามที่ใช้อยู่เดิมก็ใช้ตัดเส้นเป็นตัวควบคุมลวดลายต่างๆ ที่จะวาด แต่ด้วยความที่สีครามจากโคบอลต์ต้องเผาที่อุณหภูมิสูงก่อนเคลือบ จึงต้องร่างลวดลายเส้นสายต่างๆ ไว้ก่อนด้วยคราม เผาเสร็จแล้วค่อยเอามาแต้มสีเหลือง แดง ม่วง เขียว ไปตามกรอบลายที่ได้วาดไว้ แล้วเอาไปเผาที่อุณหภูมิต่ำให้สีสุกอีกรอบ จึงได้เป็นเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่สีสันสวยงามอย่างที่เห็นครับ

กระบวนการนี้คงไม่ได้คิดได้กันในภายในวันสองวันนะครับ คงจะต้องลองผิดลองถูกกันมานับครั้งไม่ถ้วน และอย่างที่ได้เคยพูดไว้แล้วว่าเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่นี่พระเจ้าหมิงเสียนจง (รัชศกเฉิงฮวา ค..1465-1487) ได้สั่งให้ช่างหลวงทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมอบให้เป็นของขวัญแก่พระสนมว่าน กุ้ยเฟยอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ ของที่ทรงสั่งให้ช่างหลวงทำขึ้นนี้ย่อมไม่ใช่ของธรรมดาสามัญที่มีทั่วๆ ไป ย่อมจะต้องเป็นของพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่พิเศษไปกว่านั้นเค้าสันนิฐานว่าตัวอักษรหกตัวที่บอกว่าทำในรัชศกเฉิงฮวาใต้เครื่องเคลือบแต่ละชิ้นนั้น จักรพรรดิหมิงเสียนจงเป็นคนเขียนด้วยพระองค์เอง (อันนี้เค้าวิเคราะห์จากลักษณะลายมือว่าดูเป็นลายมือเด็กๆ เขียน ซึ่งในช่วงที่จักรพรรดิเสียนจงสั่งให้ทำเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่นี่ยังเพิ่งขึ้นครองราชย์ อายุน้อยๆ เด็กที่ไหนจะกล้ามาเขียนตัวอักษรใต้เครื่องเคลือบที่จักรพรรดิราชวงศ์หมิงทำให้พระสนมอันเป็นที่รัก)

เป็นที่สังเกตว่าเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่ที่ทำในรัชศกเฉิงฮวานี่ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นเล็กๆ จุ๋มจิ๋มน่ารัก เป็นถ้วยชา ถ้วยเหล้ามีเชิง ดูสวยหวานผู้หญิ้งผู้หญิง แหม ก็ของทำให้ผู้หญิงก็ต้องประมาณนี้ แต่ชิ้นใหญ่ๆ ก็มีบ้างน่ะครับ เค้าว่ามีเตาเผาเครื่องหอม กะถ้ำชาด้วย ถ้ำชานี่ที่กู้กง ไต้หวันมี แต่เตาเผาเครื่องหอมนี่ไม่เคยเห็นเหมือนกันนะครับ เรื่องจักรพรรดิเฉิงฮวากับพระสนมว่านกุ้ยเฟยนี่ขอยกเป็นอีกเรื่องต่างหากนะครับ

ลองนึกภาพเครื่องเคลือบที่ทำกันเป็นปกติในช่วงต้นสมัยหมิงนะครับ หลักๆ ก็เครื่องกระเบื้องเคลือบลายครามที่ทำขายส่งออกกันเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งวาดลวดลายด้วยสีน้ำเงินคราม นอกจากลายครามก็มีครามไฟซึ่งเป็นสีแดงออกส้มๆ นอกจากนี้แล้วก็เป็นสีพื้นๆ อย่างเครื่องเคลือบหลู กวน เกอ หลงฉวน (เนื้อเซลาดอน) จุน (สีฟ้า) ติ้ง (ขาว) ชิงไบ๋ (ขาวอมเขียว) ฯลฯ ที่จะเรียกว่าวาดด้วยสีสันสดใสเป็นลวดลายเล็กๆ ละเอียดลออนี่ไม่มีเลยนะครับ

จากการขุนค้นที่เตาหลวงสมัยหมิงใต้ถนน Zhushan เมืองจิ๋งเต๋อเจิ้น พบว่าในชั้นสมัยซวนเต๋อ (.. 1426-1487) นั้นมีการทำเครื่องกระเบื้องด้วยเทคนิคที่เรียกว่าโต้วไฉ่นี้ได้แล้วตั้งแต่ต้นรัชกาล แต่คงจะอยู่ในช่วงที่เพิ่งทดลองทำได้จึงมีตัวอย่างหลงเหลือมาไม่มากนัก และเครื่องเคลือบโต้วไฉ่ที่ทำในสมัยซวนเต๋อที่เหลือเป็นชิ้นสมบูรณ์นี่เป็นชาม ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ Sagya Monastery ที่ธิเบตครับ
อีกประเด็นสำหรับเครื่องเคลือบโต้วไฉ่ที่ทำในสมัยเฉิงฮวาคือทำไมพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน เลือกถ้วยชาเถาองุ่นใบนี้มาขึ้นปกหนังสือแคตตาล็อคเครื่องเคลือบโต้วไฉ่ในสมัยเฉิงฮวา คือเข้าใจว่ามันต้องมีความสำคัญขนาด ถึงเอาชนะถ้วยไก่พันล้านได้


ถ้วยองุ่นที่วาดลูกองุ่นด้วยสีพิเศษ คือสีน้ำตาลอมม่วงซึ่งเป็นนวตกรรมด้านสีที่วาดลงบนเครื่องกระเบื่องในสมัยซวนเต๋อ


มาได้คำตอบจากหนังสือของคุณ Nigel Wood ว่าสีน้ำตาลอมม่วงที่ใช้ระบายเป็นลูกองุ่นนี่เป็นสีพิเศษครับ เป็นนวตกรรมด้านสีที่เกิดขึ้นในสมัยซวนเต๋อ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะวิเคราะห์องค์ประกอบของสีได้ (คงไม่พบเศษแตกๆ ของเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่สีพิเศษนี้) คุณไนเจลแกเลยสันนิษฐานว่าสีน้ำตาลอมม่วงนี้เกิดจากแร่แมงกานีส และอาจจะผสมกับโคบอลต์ (cobalt impurity) อีกนิดหน่อย ซึ่งเป็นสีที่เผาอุณหภูมิสูง ก็เพิ่มความยุ่งยากในกระบวนการเข้าไปอีก และด้วยเหตุนี้ทำให้เป็นสีพิเศษ จบถ้วยกระบวนโต้วไฉ่แต่เพียงเท่านี้นะครับ

ความคิดเห็น