เทียนมู่ จักรวาลในถ้วยชาของต้าซ้อง




หนังสือคุณไนเจล วู๊ด เค้าแบ่งเรื่องน้ำเคลือบตามประเภทสี คือ เขียวก็พูดรวมทีเดียวเลย เป็นสีๆ ไป ตอนนี้อ่านมาถึงเครื่องเคลือบสีดำที่มีชื่อเสียงมากแล้วก็ได้รับความนิยมมากเหมือนกันครับ เครื่องเคลือบดำที่ว่านี้คือ เครื่องเคลือบ "เทียนมู่" หรือที่รู้จักกันในชื่อญี่ปุ่นว่า "เทนมูกุ"

"เทียนมู่"  เป็นชื่อจีนที่พระญี่ปุ่นเอาไปเผยแพร่ที่ญี่ปุ่นในนามเทนมูกุ ประกอบกับถ้วยเทียนมู่ที่หาได้ยากยิ่งมีลักษณะพิเศษคือเป็นจุดดำๆ มีประกายเหลือบสีรุ้งอยู่รอบๆ ดูคล้ายๆ กาแลคซี่ในจักรวาล เลยตั้งชื่อตอนนี้ว่า เทียนมู่ จักรวาลในถ้วยชาของต้าซ้อง ซ้องคือราชวงศ์ซ่ง เข้าใจว่าซ้องเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว ในหนังสือตำนานเครื่องโต๊ะของกรมดำรงก็เรียกราชวงศ์ซ่งว่า ซ้อง

ถ้วยชาเทียนมู่เป็นถ้วยชาเคลือบสีดำ ขนาดกว้าง 4-5 นิ้ว สูงประมาณ 2-3.5 นิ้ว ที่ใหญ่ขนาดนี้เพราะมันออกแบบมาไว้สำหรับชงชาแบบที่ต้องตีผงชาให้เป็นฟอง เป็นวิธีการชงชาที่นิยมกันในสมัยซ่ง ซึ่งก็คือการชงชาแบบญี่ปุ่นในปัจจุบันนั่นเองครับ 

https://www.facebook.com/Christies/videos/10153907358440435/ 
(ดูสาธิตการชงชาแบบสมัยซ่งได้จากคลิบของคริสตี้ได้ตามลิงค์ข้างบนนี้ครับ) 


ถ้วยชาแบบนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินจีนปลายสมัยราชวงศ์ถัง มารุ่งเรืองที่สุดในสมัยราชวงศ์ซ่งแล้วก็ผลิตมาเรื่อยจนถึงปลายศตวรรษที่ 14 เครื่องเคลือบดำนี่ในวงการฝรั่งเค้าเรียกเครื่องเคลือบ เจี้ยน" (Jian ware) เรียกตามชื่อแหล่งศูนย์กลางที่ทำ คือเมืองเจี้ยนหยาง ทางตอนเหนือของฟูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยนที่เราคุ้นเคยกันนั่นเองครับ

อย่างที่เคยพูดไปก่อนแล้วว่าญี่ปุ่นนั้นรับวัฒนธรรมหลายๆ อย่างไปจากจีน การดื่มชาแบบตีให้เป็นฟองนี่ญี่ปุ่นก็รับไปจากจีน รวมทั้งถ้วยชาเทียนมู่นี้ด้วย ช่วงแรกๆ ก็ซื้อจากจีนไปขาย จนได้รับความนิยมมากๆ ก็ผลิตขายเองซะเลย ใช้กันแพร่หลายจนกลายเป็นว่าชื่อ "เทียนมู่" คนไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าบอกว่า "เทนมูกุ" ละร้องอ๋อกันเลยทีเดียว จำได้ว่าการที่ถ้วยเทียนมู่ไปแพร่หลายที่ญี่ปุ่นนั่นก็เพราะพระญี่ปุ่นเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่เมืองจีนแล้วก็เอาถ้วยเทียนมู่กับวิธีการชงชาแบบสมัยซ่งกลับไปเผยแพร่ที่ญี่ปุ่นจนได้รับความนิยมมากสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ถ้วยชาเทียนมู่นี้มีหลายแบบหลายเทคนิคในการผลิต แบบที่เห็นทั่วไปคือแบบที่เป็นเส้นๆ เป็นทางยาวๆ ลงมา เรียกว่า "ขนกระต่าย" แบบที่เป็นจุดเหลือบๆ สีเงิน เหมือนลายของนกกระทาจีน เรียกว่าแบบ "ขนนกกระทา" แบบที่เป็นจุดคล้ายๆ "ฟองน้ำมัน" และแบบที่พิเศษสุดคือแบบที่เป็นสีเหลือบเปลี่ยนสีไปมาตามองศาของแสงที่ตกกระทบ รู้จักกันในชื่อ "โยเฮนเทนมูกุ" ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปนะครับ
องค์ประกอบทางเคมีของน้ำเคลือบและเนื้อถ้วยกันบ้างครับ

หลายคนคงจะคิดว่าลวดลายวิจิตรพิศดารขนาดนี้ส่วนประกอบของน้ำเคลือบจะต้องมีความซับซ้อนอย่างรุนแรง แต่เปล่าเลยครับ ส่วนผสมนี่เบๆ เลย

หลักๆ ก็ดินในพื้นที่เจี้ยนหยาง บริเวณที่ทำนั่นแหละครับ ความพิเศษอยู่ที่ดินนี่มีธาตุเหล็กอยู่
ช่างปั้นชาวฝรั่งเศส Jean Girel เสนอว่าน่าจะใช้ดินในพื้นที่ 3 ส่วน และขี้เถ้าจากไม้ 2 ส่วน เป็นส่วนผสมของน้ำเคลือบ มาถึงตรงนี้ต้องอุทานว่า "แค่นี้เองอะ!!!!!!" สวนผสมพื้นๆ แต่ได้ผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์มากกกก ประเด็นนี้ช่างปั้นชาวญี่ปุ่น Shoji Hamada เคยกล่าวไว้ว่า 
 
"...ถึงแม้ว่าสูตรเครื่องเคลือบผมจะไม่ซับซ้อน แต่วัตถุดิบที่ผมใช้นั้นมีความซับซ้อนมาก..."
คมตามสไตล์ญี่ปุ้นญี่ปุ่น

ทุกวันนี้ส่วนผสมเนื้อและน้ำเคลือบของเทียนมู่ที่ทำในฮกเกี้ยนก็ยังเหมือนกับของโบราณที่ทำกันมา อันนี้ก็ไม่น่าแปลก เพราะของที่หาได้ในพื้นที่ยอมมีต้นทุนที่ต่ำอยู่แล้ว จะเปลี่ยนให้เปลืองโดยใช่เหตุเพื่อ!!!!!!







เทียนมู่ "ขนกระต่าย
 
เทียนมู่แบบนี้มีลักษณะคล้ายขนกระต่ายครับ เป็นยังไงมาดูกันลักษณะของรูปแบบที่เรียกว่า "ขนกระตาย" นี่จะเป็นเส้นๆ สีน้ำตาลเป็นทางยาวลงมาบนพื้นดำ ซึ่งกระบวนการเกิดลวดลายแบบนี้มีดังนี้ครับ

ขั้นที่ 1 เมื่อน้ำเคลือบถูกความร้อนในเตาเผาและหลอมละลายแล้ว แร่ feldspar หรือที่เราเรียกว่าหินฟันม้า จะตกผลึกและแยกตัวออกมาจากน้ำเคลือบ และจะสะสมอยู่บริเวณที่เนื้อภาชนะและน้ำเคลือบสัมผัสกัน ปรากฎการณ์นี้ทำให้น้ำเคลือบมีปริมาณแคลเซียมและอลูมิเนียมต่ำลงแต่ iron oxide สูงขึ้น

ขั้นที่ 2 ส่วนของ iron oxide ที่สูงขึ้นนี้ก็จะแยกตัวออกจากน้ำเคลือบออกมาเป็นหยดและรวมตัวกันเป็นชั้นในน้ำเคลือบที่หลอมละลาย น้ำเคลือบส่วนที่เหลือมี iron oxide อยู่น้อยลงและมีสีดำ

ขั้นที่ 3 เกิดฟองอากาศในน้ำเคลือบที่กำลังฟอร์มตัว ฟองอากาศนี้ได้พาเอาชั้นของiron oxide ออกมาที่ผิวของน้ำเคลือบ เมื่อขึ้นมาถึงผิวน้ำเคลือบ iron oxide เหล่านี้ก็จะไหลลงตามแรงดึงดูดของโลก เกิดเป็นเส้นๆ บนพื้นสีดำของน้ำเคลือบส่วนที่เหลือ

ขั้นที่ 4 iron oxide ที่ละลายออกมาที่ผิวของน้ำเคลือบก็จะเริ่มตกผลึกที่อุณหภูมิสูงทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายในเตาเผาแล้วว่าสารประกอบธาตุเหล็กนี้จะเป็นสีอะไร 
 
ถ้าในเตามีปริมาณอ็อกซิเจนน้อย (mainly reducing) ก็จะเป็นสีเทา 
 
ถ้าในเตามีสภาพเป็นกลาง (reducing-to-neutral) ก็จะได้สีเงิน

ถ้าในเตามีปริมาณอ็อกซิเจนมาก (fully oxidising) ก็จะได้สีแดงๆ ส้มๆ ไปจนถึงเหลืองน้ำตาล 
 
ซึ่งลักษณะสีทั้งสามแบบนี้สามารถปรากฎขึ้นได้บนชิ้นงานเดียวได้ด้วยนะครับ





เทียนมู่ "จุดน้ำมัน"

แบบขนกระต่ายจัดไปแล้ว มาดูแบบจุดน้ำมันกันบ้างครับ แบบนี้ฝรั่งเรียก Oil-spot ผมก็เลยแปลเอาว่าน่าจะเรียก "จุดน้ำมัน" รึ "ฟองน้ำมัน" ก็น่าจะพอได้ ลักษณะก็ตามภาพเลยครับ จะเป็นจุดวาวๆ บนผิวสีดำ เหมือนใครเอาไปวางไว้ใกล้ๆ กะทะทอดปลาทูแล้วน้ำมันกระเด็นไปโดนเป็นจุดๆ

รูปแบบส่วนผสมน้ำเคลือบเหมือนกับแบบขนกระต่ายแหละครับ เพียงแต่ว่าเกิดอุบัติเหตุระหว่างขั้นตอนการเผา อุณหภูมิลดลงในช่วงเวลาที่ฟองอากาศพาเอา iron oxide ขึ้นมาที่ผิว พออุณหภูมิลดลงธาตุเหล็กก็ค้างเป็นดวงๆ ตามรูปทรงฟองอากาศ ไม่ไหลย้อยลงมาแบบขนกระต่าย 
 
และด้วยมันเกิดจากอุบัติเหตุในขั้นตอนการเผาเครื่องเคลือบเทียนมู่ของโบราณจากแหล่งเตาเผาเจี้ยน ฮกเกี้ยนนี่จึงมีอยู่น้อยมาก นักสะสมต่างเสาะแสวงหามาครอบครองเพราะเป็นของแปลกมีอยู่น้อย
และด้วยความนิยมว่าเป็นของแปลก พวกเตาเผาทางตอนเหนือก็เลยทำเลียนแบบ จีนตอนเหนือนี่เป็นตลาดใหญ่ของเครื่องเคลือบเทียนมู่ (ก็แหงละนะครับ เป็นที่ตั้งเมืองหลวง ขุนน้ำขุนนางกระเป๋าหนักก็อยู่ทางเหนือทั้งนั้น) ในสมัยซ่งและสมัยจิ้นพวกช่างทำเครื่องเคลือบทางตอนเหนือใช้วิธีที่ง่ายกว่าได้ผลลัพท์ที่แน่นอนกว่าด้วยการใส่ส่วนผสมธาตุเหล็กไว้ใต้น้ำเคลือบสีดำของเทียนมู่ เวลาเผาธาตุเหล็กนี่ก็จะออกมากับฟองอากาศแบบเดียวกันกับของแหล่งเตาเผาเจี้ยน พอเย็นก็จะเป็นจุดๆ เหมือนกัน ไม่ต้องรอลุ้นให้อุณภูมิลดลงตอนเผา ปัจจุบันในวงการเรียกเครื่องเคลือบเทียนมู่จุดน้ำมันที่ทำเลียนแบบนี้ว่า Henan Oil-Spot



เทียนมู่ "ขนนกกระทา"

เทียนมู่แบบขนนกระทานี้มีการกล่าวถึงในเอกสารสมัยซ่งว่าเป็นของพิเศษของแหล่งเตาเผาเจี้ยน แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่าไอ้ที่ว่าขนนกกระทานี้มันจะเป็นยังไง บ้างก็ว่าหรือจะเป็นจุดขาวๆ เหลือบเงินที่เกิดในลักษณะเดียวกับแบบขนกระต่าย (คือเป็น iron oxide) หรือจะหมายถึงจุดขาวๆ ดวงใหญ่ๆ เหมือนขนนกกระทาจริงๆ

ปัญหานี้หมดไปเมื่อมีการขุดพบเศษเครื่องกระเบื้องเทียนมู่ที่เจี้ยนหยางในพ.. 2533 พบเศษเครื่องกระเบื้องเทียนมู่ที่มีการ "แต้มจุดขาวบนพื้นดำ" จำนวน 66 ชิ้น ก้นถ้วยเขียนตัวอักษรจีนว่า gongyu แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า "ของหลวง" นั่นหมายความว่าของพวกนี้ทำส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่ราชสำนักซ่ง สรุปได้ว่าที่เรียกว่าขนนกกระทาตามความหมายของในสมัยซ่งแล้วเป็นการแต้มจุดขาวๆ บนพื้นดำ ไม่ใช่ iron oxide เป็นดวงๆ สีเหลือบๆ เงิน

จุดขาวๆ เป็นดวงๆ ที่บรรจงแต่งแต้มบนพื้นดำนี้ ตรงกับความหมายของกวีนิพนธ์ในสมัยซ่งเหนือที่กล่าวถึงเทียนมู่ขนนกกระทาไว้ว่า "เปรียบดังหิมะขาวที่กำลังละลายบนผืนน้ำสีนิล"

ของแปลกและเป็นของหายากอีกอย่างของเทียนมู่ในสมัยซ่งคือ "เทียนมู่ขาว" ซึ่งไม่ได้ขาวจั๊วนะครับเป็นสีออกเทาๆ มีลวดลายเป็นเส้นๆ เทียนมู่ขาวก็เกิดจากอุบัติเหตุจากการเผาเหมือนเทียนมู่จุดน้ำมันครับคือไฟต่ำไป นอกจากเฉดขาวเทาแล้วก็ยังมีเฉดเขียวผงชาด้วยซึ่งก็เกิดจากไฟต่ำไปเช่นกัน
ลักษณะของน้ำเคลือบเทียนมู่สีอ่อนๆ ที่เกิดจากการเผาที่ไฟอุณภูมิต่ำไปนี้เกิดในช่วงที่องค์ประกอบทางเคมีในน้ำเคลือบอยู่ในช่วงที่แยกตัวกัน และส่วนที่เป็นขี้เถ้าที่อุดมไปด้วย lime และ magnesia ตกค้างอยู่บริเวณผิว เมื่อเย็นลงก็เกิดเป็นออกเขียวๆ

ใบนี้อยู่ที่ "MITO":Fujita Art Museum,Osaka

 ใบนี้อยู่ที่ "RYUKO":Daitokuji Temple,Kyoto







โยเฮนเทนมูกุ

สุดยอดของเครื่องเคลือบเจี้ยนคือ Yohen Temmoku คุณไนเจล วู๊ดบอกว่า ศาสตราจารย์ Chen Xianqin ได้กล่าวว่าเครื่องเคลือบเจี้ยนที่ได้รับการยกย่องและมีการกล่าวขวัญกันมากตั้งแต่สมัยซ่งใต้ คือ "โยเฮน เทนูมกุ" นี่แหละครับ ความพิเศษของมันคือเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง เขียว น้ำเงินไปตามแสงที่ตกกระทบ โยเฮนในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงประกายระยิบระยับสวยงามที่เปลี่ยนไปมา

และที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้นชิ้นที่สมบูรณ์มันมีตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียงสี่ใบเท่านั้นและทั้งหมดอยู่ในญี่ปุ่น จึงได้รับการยกย่องเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติไปเรียบร้อยโรงเรียนญี่ปุ่น สามใบอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในเมืองโตเกียว โอซาก้า และเกียวโต สามรูปที่เอามาให้ดูนี่แหละครับ อีกใบเป็นสมบัติของเอกชน

เครื่องเคลือบโยเฮน เทนโมกุ นี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในของโคตรหายากเช่นเดียวกับ เครื่องเคลือบติ้งสีดำ เคลือบเยว่สีลึกลับ และ เครื่องเคลือบสีแดงเลือดวัวที่ทำในสมัยจักรพรรดิเสวียนเต๋อ เลยทีเดียวเชียว

แต่เนื่องจากในตอนนี้ยังไม่พบเศษกระเบื้องแตกๆ เลยไม่สามารถที่จะเอามาวิเคราะห์ได้ว่าลักษณะน้ำเคลือบเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ปัจจุบันผมเห็นก็มีคนทำขายนะครับ ราคาไม่ต้องพูดถึงโคตรมหาแพง เข้าใจว่าคงจะคิดค้นสูตรน้ำเคลือบกับเอาเองให้ได้ลักษณะคล้ายๆ กับของโบราณ

จบครบถ้วนกระบวนเครื่องกระเบื้องเทียนมู่แต่เพียงเท่านี้ครับ ข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงมาจากหนังสือ Chinese Glazes : Their Origins, Chemistry and Re-creation ของคุณ Nigel Wood

ความคิดเห็น